นายทิม เบเกอร์ นักกลยุทธ์การลงทุนด้านปริวรรตเงินตราของธนาคารดอยซ์แบงก์กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ควรจะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินแบบพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) โดยเร็ว เพื่อพยุงค่าเงินเยน
นายเบเกอร์ให้สัมภาษณ์ในรายการ Street Signs Asia ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า "BOJ เป็นหนึ่งในธนาคารหลายแห่งที่นำนโยบายผ่อนคลายการเงินมาใช้ แต่ในการพยุงค่าเงินเยนนั้น BOJ จำเป็นต้องยกเลิกการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินมากกว่าธนาคารกลางอื่น ๆ โดย BOJ ควรจะเริ่มถอนนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ และยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ"
ทั้งนี้ นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ หรือ QE หมายถึงการที่ธนาคารกลางอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินผ่านทางการซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเภทระยะยาวจากธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ภายในประเทศ
นายเบเกอร์กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้น BOJ ได้ใช้นโยบาย QE เป็นเครื่องมือในการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และ BOJ ใช้นโยบาย QE มากกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เคยใช้ แต่หาก BOJ ต้องการพยุงเงินเยนให้ฟื้นตัวขึ้น ก็ควรจะยุติการใช้นโยบายดังกล่าวโดยเร็ว
ในการประชุมครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค. คณะกรรมการ BOJ ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% แต่ BOJ ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันแล้วก็ตาม ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนร่วงลงสู่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ในวันดังกล่าว