ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 ของไทยขยายตัวเพียง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอาจขยายตัว 2.4% และต่ำกว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 1.8%
ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปี และเป็นการชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลงต่อไปอีก
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นายชัว ฮาน เต็ง นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารดีบีเอสกล่าวว่า การใช้จ่ายสาธารณะ รวมถึงการสต็อกสินค้า และการส่งออกสินค้าของไทยชะลอตัวลง แม้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวมีความแข็งแกร่งก็ตาม โดยนายชัวเตือนว่า รัฐบาลมีโอกาสน้อยลงในการใช้จ่ายสาธารณะอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายประชานิยม
ด้านนักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา โกลบอล รีเสิร์ชกล่าวว่า "การที่ GDP ของไทยชะลอตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ว่าการอุปโภคบริโภคขยายตัวอย่างแข็งแกร่งก็ตาม"
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของดีบีเอส และแบงก์ ออฟ อเมริกา โกลบอลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มด้านการเงินในอนาคต โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 8 พร้อมระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของโนมูระคาดการณ์ว่า ธปท.จะระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 29 พ.ย. และอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมไปจนถึงปี 2567