ทั่วโลกจับตาการพักรบชั่วคราวระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ (24 พ.ย.) โดยกาตาร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาเปิดเผยว่า ข้อตกลงการพักรบเป็นเวลา 4 วันระหว่างอิสราเอลและฮามาสจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 07.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 12.00 น.ตามเวลาไทยในวันนี้ โดยตัวประกันชาวอิสราเอลที่เป็นสตรีและเด็กกลุ่มแรกที่จะได้รับการปล่อตัวในวันนี้มีจำนวน 13 คน
-- ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า นายเคียร์ต วิลเดอร์ส ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิม ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธ (22 พ.ย.)
ทั้งนี้ นายวิลเดอร์ส และพรรคฟรีดอม ปาร์ตี้ (PVV) ของเขาได้ที่นั่งในรัฐสภาเนเธอร์แลนด์จำนวน 37 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการพลิกความคาดหมายของโพลทุกสำนัก โดยมีคะแนนนำเหนือพรรคเลเบอร์/กรีน และพรรคอนุรักษ์นิยมของนายมาร์ก รุตเตอ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ชัยชนะของนายวิลเดอร์สได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วแวดวงการเมืองยุโรป เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของแนวคิดการนำเนเธอร์แลนด์แยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือ Nexit และเคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะตัดความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน
-- กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสประกาศว่า การประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันซึ่งถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 พ.ย. จากเดิมวันที่ 25-26 พ.ย.นั้น จะเป็นการประชุมแบบออนไลน์ แทนการจัดประชุมแบบพบปะกัน โดยประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกพลัสกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมัน ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างมากในขณะนี้
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการของกลุ่มโอเปกพลัสออกแถลงการณ์ว่า โอเปกพลัสจะเลื่อนการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันออกไปเป็นวันที่ 30 พ.ย. จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 25-26 พ.ย.
-- กระทรวงการคลังอิสราเอลคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะขยายตัวเพียง 2% ในปี 2566 ซึ่งชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะขยายตัว 2.7% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ส่วนในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะขยายตัว 1.6% โดยปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น มาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอยลง ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการใช้จ่ายลงด้วย โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
-- ธนาคารกลางตุรกีประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5% สู่ระดับ 40% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 2.5%
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางมีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อและพยุงค่าเงินลีรา
ทั้งนี้ เงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะ 61% ในเดือนต.ค. ขณะที่ลีราร่วงลง 35% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2566 และทรุดตัวลงมากกว่า 80% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ โดยญี่ปุ่นมีกำหนดเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค., สถาบัน GfK เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.ของอังกฤษ, สิงคโปร์เปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค., เยอรมนีเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพ.ย.จากสถาบัน Ifo ทางด้านสหรัฐจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล