ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ให้คำปรึกษาชั้นนำระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การชำระเงินดิจิทัลและนวัตกรรมอื่น ๆ ในบริการดิจิทัล หลังจากการเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด
ทั้งนี้ PwC ระบุว่า การเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วหลังยุคโควิด-19 ได้ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของบริการการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภูมิภาคดังกล่าวประกอบด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน ลาว และกัมพูชา
รายงานระบุว่า ตัวอย่างบางส่วนได้แก่ พร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย ซึ่งทำให้ผู้ใช้บัญชีธนาคารสามารถรับและโอนชำระเงินผ่านหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือที่อยู่อีเมล ขณะที่ในฟิลิปปินส์ รัฐบาลได้แจกเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชนผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ส่วนสิงคโปร์ก็ได้ส่งเสริมและจูงใจร้านค้าหันมาใช้บริการชำระเงินไร้สัมผัสผ่าน QR Code
"ความพร้อมใช้งานและความสะดวกสบายของการชำระเงินดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะช่วยให้ประชากรจำนวนมากในอาเซียนใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์การเงินดิจิทัลกระแสหลัก เช่น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ในการเร่งขยายบริการทางการเงินเพิ่มเติม" PwC ระบุ
PwC ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มจะแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งหลายประการ เช่น ผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 460 ล้านราย ประชากรอายุน้อยและผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก PwC ระบุว่า การชำระเงินดิจิทัลด้วยกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตะ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นกว่า 5 เท่าตัวและทะลุ 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568