เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P) คาดการณ์ว่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงนั้น แรงขับเคลื่อนหลักที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะย้ายจากจีนไปยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีอัตราการขยายตัวแซงหน้าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ทั้งนี้ S&P คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2567 จะขยายตัวแตะ 6.4% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 6% โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจากราคาอาหารที่อยู่ในระดับสูงและกิจกรรมด้านการส่งออกที่ชะลอตัว
ขณะเดียวกัน S&P ระบุว่า ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นการขยายตัวของ GDP ในเชิงบวกทั้งในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง
S&P ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของตัวเลข GDP อินเดียในปีงบประมาณ 2568 ลงสู่ระดับ 6.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 6.9% แต่คาดว่า GDP จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 7% ในปีงบประมาณ 2569
ส่วนประเทศจีนนั้น S&P คาดการณ์ว่า GDP จีนจะขยายตัว 5.4% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม และคาดว่า GDP ในปี 2567 จะขยายตัว 4.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.4%
"การที่จีนอนุมัติการออกพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนเมื่อไม่นานมานี้ และอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นได้โควตาการออกพันธบัตรในปี 2567 ได้ส่วนหนึ่งนั้น เป็นปัจจัยประกอบการคาดการณ์ GDP ของเรา แต่คาดว่าวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน โดยอุปสงค์ด้านอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดหมุนเวียนและยอดขายที่ดินของบรรดาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" นางอูนิส ตัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเครดิตประจำเอเชียแปซิฟิกของ S&P กล่าว
แม้ S&P มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก แต่วิกฤตพลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมทั้งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหรือฮาร์ดแลนดิ้ง (hard landing) ได้ทำให้ S&P ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมจีน) ในปี 2567 ลงสู่ระดับ 4.2% จากระดับ 4.4%