สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างข้อมูลจาก World Federation of Exchanges ซึ่งระบุว่า ณ สิ้นเดือนพ.ย. มูลค่ารวมของตลาดหุ้นอินเดียอยู่ที่ 3.989 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่ามูลค่ารวมของตลาดหุ้นฮ่องกง ณ สิ้นเดือนพ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 3.984 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) ดัชนี Nifty 50 ตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่ และปรับตัวขึ้นเกือบ 16% นับตั้งแต่ต้นปี 2566 และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวในแดนบวกติดต่อกันเป็นปีที่ 8 สวนทางกับดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงที่ร่วงลงไปแล้วถึง 16% นับตั้งแต่ต้นปี 2566 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในแดนลบติดต่อกันเป็นปีที่ 4 และอาจจะกลายเป็นตลาดหุ้นที่ทำผลงานย่ำแย่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
อินเดียแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกเมื่อช่วงต้นปี 2566 และกลายมาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุด โดยการที่อินเดียมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีอุปสงค์ภายในประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้อินเดียพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกเข้าสู่ตลาดทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
นักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อหุ้นสุทธิในตลาดหุ้นอินเดียเป็นมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่กองทุนภายในประเทศเข้าซื้อกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์
เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สำหรับช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2566-2567 ของอินเดีย ขยายตัว 7.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.8% และสูงกว่าที่ธนาคารกลางอินเดียประมาณการที่ระดับ 6.5%
ส่วนทางด้านฮ่องกงนั้น มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของฮ่องกงลงสู่เชิงลบ จากมีเสถียรภาพ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. หลังจากที่ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยมูดี้ส์ระบุว่าการปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของฮ่องกงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านการเมือง สถาบัน เศรษฐกิจ และการเงินระหว่างฮ่องกงและจีนมีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก ด้วยเหตุนี้แนวโน้มที่อ่อนแอลงของจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกงด้วย