องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุในรายงานวันนี้ (12 ธ.ค.) ว่า เมียนมากลายเป็นประเทศผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงภายในประเทศและการเพาะปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานที่ลดลง
รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า การเพาะปลูกฝิ่นในอัฟกานิสถานปรับตัวลดลง 95% หลังจากกลุ่มตาลีบันสั่งแบนการปลูกฝิ่นเมื่อปี 2565 ส่งผลให้เมียนมากลายเป็นแหล่งอุปทานฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก ผู้คนจำนวนมากมายหันไปทำไร่ฝิ่น ท่ามกลางการขาดเสถียรภาพทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564
UNODC กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรเมียนมามีรายได้จากการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นประมาณ 75% เนื่องจากราคาฝิ่นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 355 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบเป็นรายปี จาก 40,100 แตะ 47,000 เฮกตาร์ ส่งผลให้ศักยภาพในการเพาะปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2544
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนระดับภูมิภาคของ UNODC กล่าวว่า "การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการปกครองที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาในเดือนก.พ. 2564 ผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลหันมาปลูกฝิ่นเพื่อหาเลี้ยงชีพ" นอกจากนี้ นายดักลาสเสริมว่า การต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่เพิ่มขึ้น อาจจะยิ่งทำให้ผู้คนหันไปเพาะปลูกฝิ่นเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบริเวณพื้นที่ชายแดนของเมียนมาทางตอนเหนือของรัฐฉาน รองลงมาคือรัฐฉิ่นและรัฐคะฉิ่น ผลผลิตเพิ่มขึ้น 16% แตะ 22.9 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ เนื่องจากแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ซับซ้อนมากขึ้น