ผู้ซื้อปุ๋ยในเอเชียกำลังมองหาทางเลือกอื่น แทนที่การพึ่งพาปุ๋ยจากจีนเป็นหลัก เนื่องจากมีกระแสความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความไม่มั่นใจในการซื้อปุ๋ยจากจีน หลังทางการจีนออกมาตรการควบคุมการขนส่งที่ที่มุ่งปกป้องตลาดภายในประเทศ
อนึ่ง จีนคือผู้ส่งออกฟอสเฟตรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นซัพพลายเออร์ยูเรียรายใหญ่อีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2564 จีนได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมราคาภายในประเทศ เช่น กำหนดโควตาส่งออก และข้อกำหนดการตรวจสอบส่วนผสมปุ๋ยอย่างครอบคลุม ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งออกยูเรียของจีนในปี 2565 ลดลง 24% สู่ระดับ 2.8 ล้านเมตริกตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และแม้ว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของปีก่อน ๆ
จีนได้ส่งออกฟอสเฟตเป็นจำนวนมากในช่วงต้นปีนี้ แต่การส่งออกฟอสเฟตจากจีนได้ชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ซัพพลายฟอสเฟตในตลาดโลกมีจำนวนลดลง จนดันให้ราคาแพงขึ้น
ข้อมูลจากแอลเอสอีจี (LSEG) ระบุว่า ราคาไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (DAP) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานระดับโลกสำหรับอุตสาหกรรมปุ๋ย เพิ่มขึ้น 26% ตั้งแต่กลางเดือนก.ค. สู่ระดับ 617.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
นายจอช ลินวิลล์ ผู้อำนวยการแผนกปุ๋ยของสโตนเอ็กซ์ กรุ๊ป บริษัทบริการทางการเงินและบริหารจัดการความเสี่ยงของสหรัฐ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงการส่งออกเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่าจีนจะเป็นซัพพลายเออร์ที่มีความน่าเชื่อถือลดลงยิ่งกว่าเดิมในปี 2567
เจ้าหน้าที่อาวุโสจากบริษัทปุ๋ยแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีของอินเดีย กล่าวว่า "ข้อจำกัดที่จีนกำหนดส่งผลให้ราคายูเรียและไดแอมโมเนียมฟอสเฟตพุ่งสูงขึ้น แต่เราไม่คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"
ทางด้านนายเตียว ตีเส็ง กรรมการผู้จัดการบริษัทเบ็นไมเยอร์ อกริแคร์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ปุ๋ยและเคมีเกษตรในกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ผู้ซื้อในมาเลเซียก็กำลังหันเหออกจากจีนเช่นกัน โดยเปลี่ยนไปซื้อฟอสเฟตจากเวียดนามและอียิปต์แทน
นอกจากนี้แล้ว เกาหลีใต้ ซึ่งได้ออกมาร้องเรียนจีนในประเด็นการส่งออกยูเรียล่าช้า ก็กำลังมองหาตัวเลือกอื่นแทนที่จีน โดยเกาหลีใต้ใช้ยูเรียทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตร ด้วยการใช้เป็นปุ๋ย รวมถึงวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ใช้เป็นสารเติมแต่งเชื้อเพลิงดีเซล