สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ภาษีดังกล่าวหรือที่เรียกว่า "มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน" (CBAM) จะครอบคลุมสินค้าก่อมลพิษสูงในอุตสาหกรรมเหล็ก, เหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, เซรามิก, แก้ว และซีเมนต์
อัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาในการผลิตสินค้านำเข้าเหล่านี้ และความแตกต่างระหว่างภาษีคาร์บอนที่ใช้ในประเทศต้นทาง (ถ้ามี) กับภาษีคาร์บอนที่บังคับใช้กับผู้ผลิตในสหราชอาณาจักร
นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษกล่าวว่า "ภาษีนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์ก่อมลพิษสูงจากต่างประเทศ เช่น เหล็กและเซรามิก ต้องเผชิญกับภาษีคาร์บอนที่ใกล้เคียงกับที่ผลิตในสหราชอาณาจักร เพื่อให้ความพยายามลดคาร์บอนของเราส่งผลต่อการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก"
"มาตรการนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรในการลงทุนเพื่อลดคาร์บอน ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์"
อังกฤษระบุว่า ภาษีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของ "การรั่วไหลของคาร์บอน" ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่บริษัทหลบเลี่ยงมาตรการโดยย้ายไปปล่อยมลพิษในประเทศที่มีภาษีคาร์บอนต่ำหรือไม่มีเลย โดยภาษี CBAM จะบังคับใช้ควบคู่ไปกับกฎการค้าสิทธิ์การปล่อยมลพิษของสหราชอาณาจักร
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ย. สหภาพยุโรป (EU) เริ่มเฟสแรกของระบบการเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำเข้าเหล็ก ซีเมนต์ และสินค้าอื่น ๆ เป็นครั้งแรกของโลก โดยจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชายแดนในปี 2569
อย่างไรก็ดี ระบบภาษีดังกล่าวของ EU สร้างความไม่พอใจในหมู่คู่ค้า และในการประชุมล่าสุด นายเจี่ย เจิ้นหฺวา ทูตด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคนสำคัญของจีน ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ไม่ใช้ "มาตรการข้างเดียว" เช่น ภาษีของ EU