กลุ่มธนาคารข้ามชาติรายใหญ่ อาทิ เจพี มอร์แกนและซิตี้ มีพัฒนาการที่สำคัญในปี 2566 ในการใช้กลยุทธ์กระจายธุรกิจในทวีปเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวแบบอ่อนแอ และการบังคับใช้กฎระเบียบการจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศที่เข้มงวดของจีนได้กดดันให้บรรดาวาณิชธนกิจรายใหญ่จากตะวันตกพิจารณาสร้างการเติบโตทางธุรกิจในตลาดอื่น ๆ แทนที่จะพึ่งพาจีนเป็นหลัก
ดีลโลจิก (Dealogic) เปิดเผยข้อมูลในวันพุธ (3 ม.ค.) ว่า เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 ที่กลุ่มวาณิชธนกิจสามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้คำแนะนำลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้และหุ้น มากกว่าค่าธรรมเนียมที่เก็บได้จากการให้คำแนะนำบริษัทจีนที่ทำข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านดังกล่าว
รายงานระบุว่า กลุ่มวาณิชธนกิจได้รับค่าธรรมเนียมในการให้คำแนะนำการออกหุ้นและตราสารหนี้จากลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 892 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และได้รับค่าธรรมเนียมจากลูกค้าจีน 854 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีเดียวกัน
ในปี 2563 กลุ่มวาณิชธนกิจได้รับค่าธรรมเนียมจากลูกค้าจีน 3.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับจากลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวสะท้อนถึงตลาดการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ร้อนแรงในอินโดนีเซียและอินเดีย รวมถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอจากบริษัทจีนในการขอจดทะเบียนในสหรัฐ ขณะที่จีนควบคุมกฎระเบียบการจดทะเบียนในต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังระงับการออกหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงท่ามกลางวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน