ธนาคารโลกออกรายงาน "แนวโน้มเศรษฐกิจโลก" ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวเพียง 2.4% ในปีนี้ โดยชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ก่อนที่จะขยายตัว 2.7% ในปีหน้า
หากไม่นับการที่เศรษฐกิจโลกหดตัวในปี 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2009
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัว 2.6% ในปี 2023 และ 3.0% ในปี 2022 หลังจากขยายตัว 6.2% ในปี 2021 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ยุติลง
ธนาคารโลกเตือนว่าช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2020 ซึ่งหมายถึงปี 2020-2024 จะเป็นช่วงครึ่งทศวรรษที่มีการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดยการขยายตัวในช่วง 5 ปีดังกล่าวจะต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 และช่วงวิกฤตการเงินในเอเชียในปลายทศวรรษ 1990 รวมทั้งช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวในต้นทศวรรษ 2000 ขณะที่คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษ 2010 เกือบ 0.75%
ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวเพียง 1.6% ในปีนี้ จากระดับ 2.5% ในปีที่แล้ว ส่วนยูโรโซนจะมีการขยายตัว 0.7% ในปีนี้ จากระดับ 0.4% ในปีที่แล้ว
นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวสู่ระดับ 4.5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี หากไม่นับปี 2020 และปี 2022 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ขณะเดียวกัน คาดว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะมีการขยายตัว 3.9% ในปีนี้ ลดลงจาก 4.0% ในปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกสามารถปรับตัวอย่างยืดหยุ่นในปีที่แล้ว ท่ามกลางความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยท้าทายในระยะใกล้ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ชะลอตัวในปีนี้และปีหน้าเมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ธนาคารโลกเตือนว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทศวรรษ 2020 จะกลายเป็นทศวรรษของโอกาสที่สูญเปล่า ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยคาดว่าจะมีการขยายตัวเพียง 3.9% ในปีนี้ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามากกว่า 1%
นอกจากนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ประชากรราว 1 ใน 4 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และราว 40% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำจะมีความยากจนมากกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2019