นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.10% สู่ระดับ 2.40% จากระดับ 2.50% ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (15 ม.ค.) โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับภาวะเงินฝืดและกระตุ้นการปล่อยกู้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ หาก PBOC ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2566
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า PBOC จะอัดฉีดเม็ดเงินสุทธิ 1.21 แสนล้านหยวน (1.69 หมื่นล้านดอลลาร์) ผ่านทางโครงการเงินกู้ระยะกลาง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและตอบสนองความต้องการด้านการระดมทุน
ก่อนหน้านี้ นายโซ หลาน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการเงินของ PBOC ส่งสัญญาณว่า จีนอาจจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก และอาจจะใช้เครื่องมือด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินผ่านทางตลาดการเงิน (Open Market Operation) และโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้เติบโตในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ นายโซเคยแสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว ก่อนที่ PBOC จะปรับลด RRR ในเดือนก.ย.ปีเดียวกัน นอกจากนี้ การแสดงความเห็นของนายโซยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เทรดเดอร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า PBOC จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าส่งผลให้ตลาดการเงินพยายามกดดันให้ทางการจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยและจัดหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
ทางการจีนเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15