สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เรือที่เดินทางผ่านทะเลแดงถูกกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทขนส่งสินค้าต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือจนอัตราค่าระวางเรือพุ่งทะยานขึ้น
รายงานระบุว่า การเดินทางอ้อมไกลไปแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ได้หนุนให้อัตราค่าระวางเรือพุ่งขึ้นสูงสุด 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 เอฟอียูหรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต โดยปัจจุบันเรือขนส่งสินค้าได้เลี่ยงทะเลแดงแล้วเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้ารวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากกลุ่มฮูตี
นักสังเกตการณ์ตลาดบางรายคาดการณ์ว่า ภาวะติดขัดในทะเลแดงดังกล่าวจะพลิกสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการขนส่งโลกที่เผชิญภาวะถดถอยในปีที่ผ่านมา
"อัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2567 จะเพิ่มรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่กลุ่มผู้ขนส่งที่มีเรือเป็นของตนเอง (Vessel Operating Common Carrier หรือ VOCC) แม้สถานการณ์เช่นนี้จะดำรงอยู่ต่ออีกเพียง 2-3 สัปดาห์ก็ตาม" นายอลัน แบร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอแอล ยูเอสเอ (OL USA) ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ของสหรัฐ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีผ่านอีเมล
เมอส์ก (Maersk) เอเวอร์กรีน (Evergreen) และคอสโก้ (COSCO) อยู่ในกลุ่ม VOCC รายใหญ่ของโลก
"หากสถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปอีก 3-6 เดือน กำไรของกลุ่ม VOCC จะค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับสู่ระดับเดียวกับเมื่อปี 2565 เนื่องจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงานน่าจะต่ำกว่าที่กลุ่มสายการเดินเรือประสบในช่วงที่เกิดภาวะวุ่นวายเมื่อปี 2564-2565" นายแบร์กล่าว
อุตสาหกรรมการขนส่งโลกตกต่ำลง โดยถูกกดดันจากสต็อกสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงและผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง ซึ่งทำให้หลายบริษัทล้มละลายไปในปีที่ผ่านมา โดยก่อนที่จะเกิดเหตุโจมตีเรือในทะเลแดง อัตราค่าระวางเรือโลกลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากปี 2565 ซึ่งเวลานั้นโลกเพิ่งผ่านพ้นช่วงโรคโควิด-19 ระบาดจนส่งผลให้อุตสาหกรรมการขนส่งโลกเฟื่องฟู
บริษัทเจฟเฟอรีส์ (Jefferies) ระบุว่า อัตราค่าระวางเรือเส้นทางเอเชีย-ยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,550 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 เอฟอียูในปี 2566 แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัวสู่กว่า 3,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 เอฟอียู