จำนวนประชากรจีนลดลงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา หลังเผชิญภาวะประชากรลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษในปี 2565 เนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และตัวเลขการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการในวันนี้ (17 ม.ค.) ว่า จำนวนประชากรโดยรวมในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลง 2.08 ล้านราย แตะที่ 1.4097 พันล้านรายในปี 2566 ซึ่งลดลงจาก 1.4118 พันล้านรายในปี 2565
รายงานระบุว่า ในปีที่ผ่านมานั้นมีเด็กเกิดใหม่ในจีน 9.02 ล้านราย ซึ่งลดลง 5.6% จาก 9.56 ล้านรายในปี 2565 เนื่องจากคนยุคใหม่นิยมมีบุตรน้อยลง
ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่ลดน้อยลงนี้ ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2492 โดยอัตราการเกิดใหม่อยู่ที่ 6.39 คนสำหรับประชากรทุก ๆ 1,000 คน เทียบกับ 6.77 คนในปี 2565
นอกจากนี้ ในปีที่แล้วยังมีคนจีนเสียชีวิต 11.1 ล้านราย ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นสู่ 7.87 คนต่อประชากร 1,000 คน
จีนไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หลังยกเลิกมาตรการสกัดโรคระบาดในช่วงสิ้นปี 2565 แต่อัตราการเสียชีวิตในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากระดับ 7.37 คนต่อประชากร 1,000 คนเมื่อปี 2565
หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ข้อมูลประชากรอย่างเป็นทางการของจีนนั้นครอบคลุมประชากรในพื้นที่ 31 มณฑล เขตปกครองตนเอง และเทศบาลนคร รวมถึงทหาร แต่ไม่นับรวมชาวต่างชาติ
นายหลี่ ซุ่นเหลย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจงไท่ ซีเคียวริตี้ส์ (Zhongtai Securities) คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรจีนจะลดลงต่ำกว่า 1.4 พันล้านรายภายในปี 2570 และ 1.2 พันล้านรายภายในปี 2592
"ญี่ปุ่นใช้เวลา 12 ปีระหว่างปี 2537-2549 ในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ไปสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ส่วนจีนจะใช้เวลาภายใน 11 ปี" นายซุ่นเหลยระบุในบทความที่เผยแพร่เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว
ด้านธนาคารโลกระบุว่า สังคมผู้สูงอายุหมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนสังคมสูงวัยระดับสุดยอดหมายถึงประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยจีนมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปทะลุ 14% เป็นครั้งแรกในปี 2564