นางจู เกอ ประธานผู้พิพากษาศาลอินเทอร์เน็ตปักกิ่งระบุว่า การที่ศาลจีนตัดสินใจยอมรับว่ารูปภาพที่รังสรรค์ขึ้นจากการป้อนคำสั่งผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานลักษณะดังกล่าวและกระตุ้นอุตสาหกรรมใหม่นี้
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ศาลอินเทอร์เน็ตปักกิ่งได้วินิจฉัยว่า รูปภาพหนึ่งที่ผลิตขึ้นด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ป้อนคำสั่งจากข้อความเป็นรูปภาพชื่อ "สเตเบิล ดิฟฟิวชัน" (Stable Diffusion) ควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นผลงานศิลปะที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะเป็นผลงาน "ต้นฉบับ" และเป็นข้อมูลทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ศาลในจีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจยอมรับให้ผลงานจาก AI เป็นผลงานที่มีลิขสิทธิ์
สำนักข่าวเดอะ เปเปอร์รายงานว่า นางจูได้กล่าวขณะการบรรยายในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การวินิจฉัยให้รูปภาพที่ผลิตจาก AI มีสถานะถูกต้องตามกฎหมายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ
"หากไม่มีคอนเทนต์ที่รังสรรค์โดยโมเดล AI ได้รับการพิจารณาว่าเป็นผลงานศิลปะเลยสักชิ้น ย่อมทำลายอุตสาหกรรมดังกล่าวไป" นางจูระบุ
สำนักข่าวเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า คำตัดสินยอมรับรูปภาพจาก AI ดังกล่าวได้จุดกระแสถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าคอนเทนต์ที่ผลิตจาก AI นั้นควรได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ ซึ่งศาลอินเทอร์เน็ตปักกิ่งยืนยันว่า คดีเกี่ยวกับรูปภาพที่ผลิตจาก AI ในอนาคตนั้นควรได้รับการตัดสินเป็นรายกรณีไป
อนึ่ง คดีความละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่ผ่านมา โดยฝ่ายโจทก์แซ่หลี่ได้ใช้โปรแกรมสเตเบิล ดิฟฟิวชันของบริษัทสเตบิลิตีเอไอ (StabilityAI) สร้างรูปภาพสาวน้อยชาวเอเชียขึ้นมารูปหนึ่งและโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีนชื่อเสี่ยวหงซู (Xiaohongshu) ทว่ากลับถูกบล็อกเกอร์แซ่หลิวนำรูปภาพดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มไป่จยาฮ่าว (Baijiahao) ของไป่ตู้ ต่อมาศาลจึงสั่งให้จำเลยแถลงขอโทษ รวมถึงจ่ายค่าเสียหาย 500 หยวน (70.43 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าธรรมเนียมศาลอีก 50 หยวน