กลุ่มซีอีโอแถวหน้ากำลังจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงอย่างใกล้ชิด โดยเตือนว่าห่วงโซ่อุปทานมีแนวโน้มจะเผชิญกับภาวะผันผวนต่อไป
ทั้งนี้ ห่วงโซ่อุปทานเผชิญภาวะผันผวน หลังกลุ่มกบฏฮูตีจากเยเมนโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว เพื่อกดดันให้อิสราเอลยุติการทำสงครามต่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา หลังอิสราเอลออกปฏิบัติการตอบโต้ต่อกรณีที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปีที่ผ่านมา
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้สหรัฐและอังกฤษได้ออกปฏิบัติการโจมตีกลุ่มฮูตีหลายระลอกเพื่อสกัดกั้นการโจมตีของกลุ่มฮูตีและปกป้องเรือพาณิชย์ในทะเลแดง แต่สถานการณ์ยังคงร้อนระอุจนทำให้บริษัทเดินเรือหลายรายระงับการเดินทางผ่านตะวันออกกลางแล้วอ้อมไปผ่านแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาแทน โดยการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางทดแทนดังกล่าวจะเพิ่มระยะเวลาเดินทางประมาณ 10 วัน ทำให้ระยะเวลารอคอยสินค้านานขึ้นและค่าขนส่งแพงขึ้นสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรป
นายเจสเปอร์ บรอดิน ซีอีโอของอิงกา กรุ๊ป (Ingka Group) ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีที่การประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum - WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในสัปดาห์นี้ว่า "ในปีที่ผ่าน ๆ มานั้น ผมคิดว่าเราคุ้นชินกับการใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะผันผวน และแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ต้องเห็นภาวะผันผวนอีกครั้งหนึ่ง"
เมื่อถูกถามว่าภาวะผันผวนนี้ถือเป็น "ความปกติใหม่" (New Normal) หรือไม่ นายบรอดินกล่าวว่า "ผมคิดว่าเป็นเช่นนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้ยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่ว่าโลกใบนี้นั้นมีพลวัตมากขึ้นและผันผวนมากขึ้น"
อิงกา กรุ๊ปเป็นเจ้าของร้านอิเกีย (IKEA) บางสาขา และนายบรอดินระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีสต็อกสินค้าคงคลังพรั่งพร้อม ไม่เหมือนกับช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ดังนั้นสถานการณ์ของเราถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี"
ส่วนนายโทเบียส เมเยอร์ ซีอีโอของดีเอชแอล (DHL) แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะปกติใหม่ของห่วงโซ่อุปทาน
"สิ่งที่เราเผชิญคือภาวะติดขัดแบบต่อเนื่อง" นายเมเยอร์กล่าว พร้อมระบุเสริมว่า "เรามีปัญหาในคลองปานามา เรามีปัญหาในทะเลแดง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเราวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้"
"เราจะเผชิญกับภาวะผันผวนต่อไป" นายเมเยอร์ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีจากเมืองดาวอสเมื่อวันพุธ (17 ม.ค.)