นักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ 2 รายการในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยในวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และจากนั้นในวันศุกร์ที่ 26 ม.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนธ.ค.
ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวดาวโจนส์บ่งชี้ว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า GDP ไตรมาส 4/2566 ของสหรัฐจะขยายตัว 1.7% ซึ่งจะเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ จะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค. และเพิ่มขึ้น 3% ในปี 2566
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ขณะนี้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นน้อยลงว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนธ.ค. ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. ยังมาจากการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งรวมถึงนายออสแทน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโก, นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต่างก็มีมุมมองว่าเฟดไม่ควรเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ณ ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ม.ค.) นักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค.นี้ พร้อมกับให้น้ำหนักเพียง 47.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. ซึ่งลดลงอย่างมากจากระดับ 81% ในการสำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้