ราคาแร่ยูเรเนียมมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นอีก จากปัจจุบันซึ่งราคาทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หลังจากบริษัทคาซาทอมพรอม (Kazatomprom) ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดในโลกของคาซัคสถานได้แสดงความกังวลว่า การผลิตแร่ยูเรเนียมอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้จนถึงปี 2568 เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้าง และปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปทานกรดซัลฟิวริก โดยกรดซัลฟิวริกเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการสกัดยูเรเนียม ซึ่งผู้ผลิตจะนำกรดดังกล่าวมาใช้ในการคัดกรองและดึงยูเรเนียมออกจากแร่ดิบ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า คาซาทอมพรอมสามารถผลิตยูเรเนียมได้ 43% ของอุปทานยูเรเนียมทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในตลาดโลก
การประกาศของคาซาทอมพรอมมีขึ้นในขณะที่ผู้ผลิตยูเรเนียมรายใหญ่อื่น ๆ กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นกัน รวมถึงบริษัทเคมาโอ (Cameco) ในแคนาดาซึ่งการผลิตลดน้อยลง และบริษัทโอราโน (Orano) ของฝรั่งเศสซึ่งได้ปิดดำเนินการเหมืองยูเรเนียมในประเทศไนจีเรีย
กาย เคลเลอร์ ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของบริษัททริเบกา (Tribeca) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนและให้คำปรึกษากล่าวว่า "เราเผชิญกับภาวะอุปทานยูเรเนียมตกต่ำมานานนับ 10 ปี และเราคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาที่มีการสร้างเตาปฏิกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี"
ทั้งนี้ ยูเรเนียมเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ และอุปสงค์ยูเรเนียมพุ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศพยายามที่จะเลิกใช้เชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน และลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย
รายงานระบุว่า ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์จำนวนราว 60 แห่งใน 17 ประเทศ และมีการวางแผนสร้างเตาปฏิกรณ์อีก 110 แห่ง โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน
ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (COP28) นั้น ประเทศต่าง ๆ กว่า 60 ประเทศได้สนับสนุนแผนการที่จะเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานทดแทนทั่วโลกเป็น 3 เท่าภายในปี 2573 ซึ่งทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในฐานะพลังงานทางเลือก ซึ่งทำให้ราคาพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคายูเรเนียมพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี