กลุ่มเหมืองแร่ลิเทียมเริ่มดำเนินการลดต้นทุนและปรับลดแผนขยายการผลิต หลังอุปสงค์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่ชะลอตัวลงในประเทศจีนได้ฉุดให้ราคาลิเทียมปรับตัวลงอย่างหนัก โดยลิเทียมเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV
เบนช์มาร์ก มิเนอรัล อินเทลลิเจนซ์ (Benchmark Mineral Intelligence) ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลจากอังกฤษระบุว่า ราคาลิเทียมร่วงลงกว่า 80% สู่ระดับ 13,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 หลังจากอุปทานล้นตลาด
สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า ราคาลิเทียมที่ปรับตัวลดลงนี้ส่งผลให้บรรดาเหมืองลิเทียมจำกัดการผลิต โดยเหมืองแร่ลิเทียมส่วนใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเทียมคิดเป็นสัดส่วน 40% ของโลก ขณะที่อุปสงค์รถ EV ที่ปรับตัวลดลงทำให้ปริมาณลิเทียมล้นคลังสินค้าทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน
แม้ราคาลิเทียมไม่ได้ทรุดตัวต่ำเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2562-63 โดยเวลานั้นราคาลิเทียมลดลงแตะที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากยากที่จะทำกำไรได้
โกลด์แมน แซคส์ประมาณการว่า จะมีลิเทียมคาร์บอเนตส่วนเกินอยู่ที่ 200,000 ตัน หรือ 17% ของอุปสงค์โลกในปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องลดปริมาณอุปทานลงอย่างมากเพื่อให้ตลาดลิเทียมมีความสมดุล
แต่เหล่านักการเมืองและผู้บริหารในออสเตรเลียวิตกกังวลว่า เหมืองออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกรณีที่ราคาลิเทียมปรับลดลงอย่างหนักในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากที่โครงการของเหมืองเหล่านี้ได้รับรู้ถึงผลกระทบเป็นกลุ่มแรก
ในวันพุธ (24 ม.ค.) บริษัทพิลบารา มิเนอรัลส์ (Pilbara Minerals) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมลิเทียมของออสเตรเลียโดยมีมูลค่าตลาด 1 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลียได้ออกโรงเตือนว่า บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หลังรายได้ลดลง 46% ในช่วงไตรมาสเดือนต.ค.-ธ.ค. 2566 เนื่องจากราคาลิเทียมผันผวน
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของจีนระบุว่า ยอดขายรถ EV เต็มรูปแบบเพิ่มขึ้น 84% สู่ระดับ 5.4 ล้านคันในปี 2565 แต่ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา ยอดขายรถ EV เต็มรูปแบบเพิ่มขึ้นเพียง 25%