นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า จีนอาจจะเผชิญภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงและวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
เรย์มอนด์ ยัง นักวิเคราะห์จากบริษัทออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ปกล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงอยู่ในช่วงขาลง และคาดว่าดัชนีชี้วัดภาคอสังหาริมทรัพย์จะอ่อนแรงลงต่อไปอีก 2 ไตรมาส ขณะที่ภาคครัวเรือนยังคงขาดความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ และต้องการให้รัฐบาลจีนออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อพยุงภาคส่วนนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของดัชนี CPI และ PPI สะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้งแล้วก็ตาม
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะขยายตัว 4.6% ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4.5% และคาดว่า GDP ในปี 2568 จะขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 4.3%
ส่วนในการคาดการณ์เงินเฟ้อนั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี CPI ของจีนจะปรับตัวขึ้น 1.1% ในไตรมาส 1 ปีนี้ ซึ่งชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัว 1.4%
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.10% ในไตรมาส 1 ปีนี้ และคาดว่าจะปรับลด RRR ลงอีกในไตรมาส 3