แพนดอร่า (Pandora) แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาในแง่ของยอดขายผลิตภัณฑ์ ได้ยุติการใช้ทองคำและเงินที่ขุดจากเหมือง และเปลี่ยนไปใช้ทองคำและโลหะเงินรีไซเคิลซึ่งใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่า
แพนดอร่า โด่งดังจากการขายกำไลข้อมือแบบชาร์ม (charm bracelet) หรือกำไลข้อมือที่มีลักษณะเป็นโซ่เชื่อมติดกันและมีจี้ห้อย ในราคาตั้งแต่ 65 ดอลลาร์จนถึง 95 ดอลลาร์ และขายเครื่องประดับได้ 103 ล้านชิ้นในปี 2565 โดยแพนดอร่าผลิตเครื่องประดับในโรงงาน 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และอยู่ในระหว่างสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในเวียดนาม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แพนดอร่าเคยซื้อทองคำในปริมาณ 1 ตัน และโลหะเงิน 340 ตัน ในทุก ๆ ปี โดยรายงานประจำปีของบริษัทระบุว่า ณ ปี 2565 ห่วงโซ่อุปทานของแพนดอร่าก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 264,224 ตัน
นายแมดส์ ทูมีย์-แมดเซน รองประธานอาวุโสฝ่ายการสื่อสารและความยั่งยืนของแพนดอร่า กล่าวว่า การใช้โลหะรีไซเคิลแทนโลหะใหม่ที่ขุดจากเหมือง จะช่วยให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางอ้อมได้ประมาณ 58,000 ตันต่อปี
ในการจัดการกับความเสี่ยงนี้ แพนดอร่าได้ใช้มาตรการการสอบกลับสำหรับอยู่ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Chain of Custody- CoC) ที่พัฒนาขึ้นโดยสภา Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นสภาอัญมณีผู้กำหนดมาตรฐานและคุณภาพการผลิตเครื่องประดับและอัญมณีตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมาตรฐานดังกล่าวนี้ไม่อนุญาตให้ใช้เหรียญทองคำและทองคำแท่งเป็นแหล่งทองคำรีไซเคิล
สำหรับระบบ CoC นั้น เป็นระบบการสอบกลับสำหรับผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชน ได้แก่ การสอบกลับด้านความปลอดภัยของอาหาร เกษตรกรรมอินทรีย์ การใช้วัสดุรีไซเคิล หรือความสอดคล้องในการผลิตตามวัตถุประสงค์ของแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ นอกจากแพนดอร่าแล้ว แบรนด์คู่แข่งอย่างโมนิกา วิเนเดอร์ (Monica Vinader) และมิสโซมา (Missoma) ก็ได้ส่งเสริมการใช้ทองคำและเงินรีไซเคิล 100% ด้วยเช่นกัน