กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า การใช้นโยบายที่เข้มงวดของธนาคารกลางต่างๆ ได้ทำให้เงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าคาดในภูมิภาคส่วนใหญ่
ทั้งนี้ IMF คาดว่าเงินเฟ้อในระดับโลกจะอยู่ที่ระดับ 5.8% ในปี 2567 หลังจากพุ่งแตะ 6.8% ในปี 2566 และจะอยู่ที่ระดับ 4.4% ในปี 2568 ส่วนเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วจะอยู่ที่ระดับ 2.6% ในปีนี้ และ 2.0% ในปีหน้า
"เรามีชัยชนะต่อการทำสงครามกับเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะมีภาวะซอฟท์แลนดิ้ง ซึ่งจะปูทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางยุโรป, ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางแห่งอื่นๆ เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน"
"การคาดการณ์ในขณะนี้ก็คือ ธนาคารกลางจะรอเพื่อให้ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะทำการตัดสินใจในการประชุมเป็นรายครั้ง ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ และคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง" นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าว
ทั้งนี้ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกประจำปีนี้ โดยคาดว่าจะมีการขยายตัว 3.1% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนต.ค.ที่ระดับ 2.9% โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และมาตรการกระตุ้นด้านการคลังของจีน
นอกจากนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% ในปี 2568
IMF ระบุว่ามีแนวโน้มลดน้อยลงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะ "ฮาร์ดแลนดิ้ง" หรือเศรษฐกิจหดตัวลงหลังมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง แม้มีความเสี่ยงครั้งใหม่จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น และปัญหาห่วงโซ่อุปทานท่ามกลางความผันผวนจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 2.1% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.5% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัว 4.6% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.2% ขณะที่คาดว่ายูโรโซนและญี่ปุ่นจะขยายตัว 0.9% ในปีนี้