กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในวันนี้ (31 ม.ค.) ว่า ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียอาจเห็นโอกาสในการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงต่อไปของปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเชียชะลอตัวลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (ซอฟต์แลนดิ้ง)
นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุในการแถลงข่าวว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยในทวีปเอเชียลดลงสู่ 2.6% ในปี 2566 จาก 3.8% ในปี 2565 โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความก้าวหน้ารวดเร็วเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่จะเกิดซอฟต์แลนดิ้งในเอเชียเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว
"ธนาคารกลางในหลายประเทศของเอเชียมีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2567 โดยเมื่อพิจารณาถึงการที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายยึดมั่นต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมาย ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจเริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงต่อไปในปีนี้" นายศรีนิวาสันระบุ
อย่างไรก็ตาม นายศรีนิวาสันเตือนเรื่องความเหลื่อมล้ำกันในแต่ละประเทศ โดยเงินเฟ้อที่เติบโตเกือบ 0% ในปีที่ผ่านมาของจีน "กำลังสร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด" ขณะที่ เงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะอยู่เหนือเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จนถึงปี 2568
นายศรีนิวาสันระบุว่า เงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำหมายความว่าธนาคารกลางในทวีปเอเชียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าธนาคารกลางในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งสร้างแรงกดดันเชิงลบต่อเงินบางสกุลของเอเชียในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566
"แรงกดดันเหล่านี้เริ่มลดน้อยลงแล้วในเวลานี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงว่าจุดยืนทางการเงินที่แตกต่างกันในสหรัฐและเอเชียจะทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงในด้านปริวรรตเงินตราในปีนี้" นายศรีนิวาสันระบุ
"หากเป็นเช่นนั้น ธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่ควรไขว้เขวไปกับภาวะผันผวนชั่วครั้งชั่วคราว แต่ควรมุ่งความสนใจไปยังเสถียรภาพเงินเฟ้อ"
ศรีนิวาสันระบุว่า ขณะนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในทวีปเอเชียจะขยายตัว 4.5% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4.2% ที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากสหรัฐและแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นในจีน
"โดยรวมแล้ว เอเชียมีแนวโน้มจะหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในสัดส่วน 2 ใน 3 ในปี 2567 เช่นเดียวกับเมื่อปี 2566"
ศรีนิวาสันระบุด้วยว่า เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงสู่ 4.3% ในปี 2568 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
สำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่เอเชีย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.2% ในปี 2567 ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัว 5.4% ในปี 2566 แต่เพิ่มขึ้น 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากตัวเลขที่เคยคาดการณ์เอาไว้เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้ว