กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุในวันพุธ (31 ม.ค.) ว่า ข้อตกลงที่ลงนามโดยสหรัฐและอีก 13 ประเทศในอินโดแปซิฟิกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.พ.
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งนำโดยสหรัฐ จะเปิดทางให้ประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และไทย ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อจัดการกับภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ด้วยการช่วยเหลือกันและกันในการจัดหาสินค้าอุตสาหกรรมและแร่ที่สำคัญ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐได้ริเริ่ม IPEF ขึ้นที่กรุงโตเกียวเมื่อเดือนพ.ค. 2565 เพื่อสร้างมาตรฐานทั่วไปในระดับสูงสำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ แต่จีนไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวและมองว่าข้อตกลงนี้เป็นเครื่องมือในการลดการพึ่งพาจีนในด้านเซมิคอนดักเตอร์และวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ
"ดิฉันยินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของเหล่าพันธมิตร IPEF ในการสร้างความก้าวหน้าและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม" นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุในแถลงการณ์
อนึ่ง ข้อตกลง IPEF มีการลงนามที่เมืองซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว โดยในเวลานั้นปธน.ไบเดนเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปค หลังประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องต่อเนื้อหาของข้อตกลงเป็นส่วนใหญ่ในเดือนพ.ค.ปีที่ผ่านมา