นายอาร์เธอร์ ลาฟเฟอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและประธานบริษัท ลาฟเฟอร์ เทงเลอร์ อินเวสต์เมนต์ส (Laffer Tengler Investments) ออกโรงเตือนว่า โลกกำลังเห็นเค้าลางของวิกฤตหนี้สาธารณะที่จะขยายวงในช่วง 10 ปีข้างหน้า และวิกฤตดังกล่าวจะไม่พบจุดจบที่ดี โดยยอดเงินกู้ทั่วโลกแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 307.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อช่วงปลายเดือนก.ย. 2566
ทั้งกลุ่มประเทศรายได้สูงและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เผชิญหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเพิ่มขึ้น 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากเมื่อทศวรรษที่แล้ว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เคลื่อนไหวในระดับสูง
"ผมคาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นทศวรรษแห่งหนี้ โลกจะเผชิญวิกฤตหนี้ และวิกฤตดังกล่าวจะไม่พบจุดจบที่ดี" นายลาฟเฟอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุในรายงานจับตาหนี้สาธารณะโลกฉบับล่าสุดว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลกเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 336% เทียบกับ 110% ในปี 2555 สำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และ 35% สำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และเคยอยู่ที่ระดับ 334% ในไตรมาส 4/2565
รายงานระบุว่า ประมาณ 100 ประเทศต้องลดการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ เช่น สุขภาพ การศึกษา และการปกป้องสังคม เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการชำระหนี้สิน
นายลาฟเฟอร์กล่าวว่า ประเทศที่ดำเนินการปรับปรุงสถานการณ์ทางการคลังจะได้รับประโยชน์ในด้านการดึงดูดแรงงาน เงินทุน และการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนประเทศที่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ทางการคลังจะสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ รายได้ และอื่น ๆ
"ผมคิดว่าประเทศใหญ่ ๆ บางประเทศที่ไม่แก้ปัญหาหนี้สาธารณะจะพบจุดจบอย่างช้า ๆ" นายลาฟเฟอร์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางแห่งอาจจะล้มละลาย
รายงานระบุว่า ตลาดพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสนั้นคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา ส่วนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จีน อินเดีย และบราซิลมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมากที่สุด