นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐที่กำลังส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์และกลุ่มเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี นางเยลเลนเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถควบคุมได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคาร
นางเยลเลนแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านบริการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) ว่า การรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่ปล่อยให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (commercial real estate) ที่ใกล้จะครบกำหนดท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกปล่อยว่างในระดับสูงอันเนื่องมาจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานนั้น จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อบรรดาเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้"
นอกจากนี้ ธนาคารบางแห่งของสหรัฐอาจจะประสบปัญหา เนื่องจากความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ปรับตัวลดลงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการปรับรูปแบบการทำงานไปเป็นโฮมออฟฟิศ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลภาคธนาคารกำลังมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านี้
"ดิฉันมีความกังวล แต่ดิฉันก็เชื่อว่าสถานการณ์จะสามารถควบคุมได้ แม้ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาก็ตาม" นางเยลเลนกล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปีซึ่งได้สั่นความเชื่อมั่นในภาคธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐ ล่าสุดได้เกิดแรงเทขายอย่างหนักในหุ้นกลุ่มธนาคารระดับภูมิภาค หลังจากธนาคารนิวยอร์ก คอมมิวนิตี แบงคอร์ป (New York Community Bancorp - NYCB) เปิดเผยตัวเลขขาดทุนเกินคาดในไตรมาส 4/2566 และลดการจ่ายเงินปันผลลงถึง 70% พร้อมประกาศเพิ่มเงินสำรองเพื่อรับมือกับปัญหาหนี้เสีย ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น NYCB ดิ่งลงรุนแรงถึง 59% แล้วนับตั้งแต่วันที่เปิดเผยผลประกอบการ
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของ NYCB ลงสู่อันดับขยะ (Junk) โดยระบุถึงการขาดทุนของสำนักงานในนครนิวยอร์กและในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารที่พักอาศัย ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อผลประกอบการและทำให้เงินทุนของธนาคารลดลง มูดี้ส์เตือนว่าอาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ NYCB ลงอีก หากผลประกอบการของธนาคารย่ำแย่ลงกว่าเดิม โดยระบุว่า NYCB ประสบความล้มเหลวในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินทุน และทำให้ผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นในธนาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารด้วย
สถานการณ์ของ NYCB ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินของธนาคารระดับภูมิภาคของสหรัฐอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยฉุดดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารภูมิภาค (KBW Regional Bank Index) ในตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงติดต่อกันหลายวัน