บิตคอยน์พักฐานต่ำกว่า $50,000 รอลุ้น CPI คืนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 13, 2024 20:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บิตคอยน์พักฐานต่ำกว่าระดับ 50,000 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในคืนนี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ณ เวลา 20.00 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์ปรับตัวลง 0.65% สู่ระดับ 49,873.50 ดอลลาร์ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase

ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ชะลอตัวลงในเดือนม.ค. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และจะส่งผลบวกต่อตลาดคริปโทเคอร์เรนซี

ทั้งนี้ บิตคอยน์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 50,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,800,000 บาท ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในการซื้อขายวานนี้ ขณะที่กระแสเงินทุนยังคงหลั่งไหลเข้าสู่กองทุน Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐ

สัญญาณทางเทคนิคของ Fibonacci และ Stochastic RSI บ่งชี้ว่า หากบิตคอยน์พุ่งทะลุ 50,000 ดอลลาร์ ก็จะทะยานขึ้นแตะระดับ 57,000 ดอลลาร์ภายในไม่กี่สัปดาห์

เม็ดเงินยังคงไหลเข้าสู่กองทุน Spot Bitcoin ETF อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ให้การอนุมัติการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ม.ค.

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระแสเงินทุนราว 1.1 พันล้านดอลลาร์ได้หลั่งไหลเข้าสู่ Spot Bitcoin ETF และหากนับตั้งแต่เปิดตัวกองทุนดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ก็พบว่ามีเม็ดเงินไหลเข้ามากถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่า การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF จะดึงดูดให้นักลงทุนสถาบันเข้าสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี และจะทำให้มีเม็ดเงินราว 50,000-100,000 ล้านดอลลาร์ไหลเข้าสู่บิตคอยน์ในปีนี้ ซึ่งจะหนุนให้บิตคอยน์พุ่งแตะระดับ 200,000 ดอลลาร์ภายในปี 2568

หากคาดการณ์ดังกล่าวเป็นจริง บิตคอยน์จะทำลายสถิติสูงสุดเดิมที่ทำไว้ที่ระดับ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าบิตคอยน์ยังคงมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นต่อไป โดยได้ปัจจัยบวกจากปรากฏการณ์ Bitcoin Halving ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย. รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ บิตคอยน์พุ่งขึ้นมากกว่า 150% ในปีที่แล้ว โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเพียง 24%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ