ผู้เชี่ยวชาญในตลาดปริวรรตเงินตราเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งได้แก่เงินหยวนของจีน เงินวอนของเกาหลีใต้ และเงินรูปีของอินเดีย
เฟดเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อเดือนธ.ค. 2566 ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงฤดูร้อนปีนี้ โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% อย่างเร็วที่สุดในเดือนมิ.ย.ปีนี้
อรุณ บารัต นักวิเคราะห์จากบริษัทเบล แอร์ อินเวสต์เมนท์ แอดไวเซอร์ส (Bel Air Investment Advisors) กล่าวว่า เงินหยวนของจีนเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยหากเฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ก็จะทำให้ส่วนต่างของอัตราผลตอนแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐและจีนปรับตัวแคบลง และช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินหยวนได้ในระดับหนึ่ง
ขณะที่ไซมอน ฮาร์วีย์ นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราจากบริษัทโมเน็กซ์ (Monex) กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้นโยบายบริหารจัดการค่างิน โดยดำเนินการผ่านการกำหนดอัตราค่ากลางเงินหยวนรายวัน รวมทั้งการใช้นโยบายกำกับดูแล และสั่งการให้ธนาคารของรัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาด
นอกจากนี้ ฮาวีย์กล่าวว่า เงินวอนของเกาหลีใต้ได้รับแรงกดดันเป็นเวลานานหลายปี แต่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ที่เฟดจะผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น จะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินวอนในปีนี้
อนินด์ยา บาเนอร์จี นักวิเคราะห์จากบริษัทโกตัค ซิเคียวริตีส์ (Kotak Securities) คาดการณ์ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และค่าเงินรูปีของอินเดียจะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรม Carry Trade หรือการที่นักลงทุนกู้ยืมสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำเช่นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง