การที่ราคาหุ้นของบริษัทอินวิเดีย (Nvidia) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเฟื่องฟู ประกอบกับดัชนีหุ้นทั่วโลกที่พุ่งแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้เกิดการถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่าตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แล้วหรือยัง
ทั้งนี้ ภาวะฟองสบู่คือช่วงเวลาที่ราคาสินทรัพย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสูงกว่ามูลค่าจริงของสินทรัพย์ และมีความเสี่ยงที่จะร่วงลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
นายบ็อบ พาร์กเกอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ (ICMA) ให้สัมภาษณ์กับรายการ "Squawk Box Europe" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันพุธ (28 ก.พ.) ว่า เขาเห็นสัญญาณของภาวะฟองสบู่ เมื่อพิจารณาจากลักษณะสำคัญสองในสามประการ
ประการแรกคือมูลค่าหุ้น โดยเห็นได้ชัดเจนว่ามูลค่าหุ้นของอินวิเดียสูงมาก ส่วนประการที่สองคือโพสิชันของนักลงทุน โดยเมื่อใดก็ตามที่เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาด นักลงทุนจะกระจุกตัวอย่างหนาแน่นในตลาดเดียวหรือในภาคส่วนเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายพาร์กเกอร์จะรับรู้ถึงสัญญาณของภาวะฟองสบู่ แต่เขาก็ไม่ได้กังวลว่าฟองสบู่จะแตกในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายในประเด็นนี้ โดยนายเจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน เชส ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีเมื่อวันจันทร์ (26 ก.พ.) ว่า เขาไม่ได้มองว่ากระแส AI เป็นภาวะฟองสบู่ โดยเน้นย้ำว่าสมัยที่เกิดภาวะฟองสบู่ดอตคอมครั้งแรกนั้นเป็นเพราะนักลงทุนตื่นเต้นเกินจริง แต่ครั้งนี้เป็นของจริง
ด้านนายทอร์สเทน สลอค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอะพอลโล (Apollo) ผู้จัดการสินทรัพย์ทางเลือกระดับโลก ได้เผยแพร่แผนภูมิแสดงมูลค่าหุ้นของบริษัทชั้นนำ 10 อันดับแรกในดัชนี S&P 500 เทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัทชั้นนำในช่วงทศวรรษ 1990 พร้อมกับระบุว่า "ฟองสบู่ AI ในตอนนี้ใหญ่โตยิ่งกว่าฟองสบู่ดอตคอมในช่วงปลายทศวรรษ 1990 เสียอีก"