ในปี 2566 อินโดนีเซียผลิตข้าวได้ 31.10 ล้านตัน ขณะที่ ผลผลิตโดยประมาณตั้งแต่เดือนม.ค. จนถึงเดือนเม.ย. ของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 10.71 ล้านตัน ลดลงจากระดับ 12.98 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนไม่กล้าเพาะปลูกในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. 2566 และคาดว่าพื้นที่ผลิตข้าวจะลดลงประมาณ 16% ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ปีนี้
"พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ที่ปล่อยว่างไว้จะส่งผลกระทบต่อปริมาณของผลผลิตในปี 2567" นายเอ็ม. ฮาบีบุลลอฮ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าว
การลดลงของผลผลิตที่คาดการณ์ไว้ส่งผลให้ราคาขายปลีกข้าวพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. ของอินโดนีเซียพุ่งสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในเดือนก.พ. ดัชนีราคาขายปลีกข้าว ซึ่งครอบคลุมข้าวทุกเกรด อยู่ที่ระดับ 15,157 รูเปียห์ (0.9663 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียเคยบันทึกไว้
ทั้งนี้ อินโดนีเซียกำลังส่งเสริมการนำเข้าข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศ โดยความเคลื่อนไหวนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมราคา โดยคาดว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งจะเริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมี.ค.นี้