เว็บไซต์ข่าว bnnbreaking รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในกลุ่มคนทำงานวัยหนุ่มสาว ซึ่งกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ตลาดงานและอาจรวมถึงอนาคตของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ
รายงานระบุว่า กลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปีนิยมที่จะเลือกงานที่ไม่ใช่งานประจำมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและความสนใจส่วนบุคคลมากกว่าความมั่นคงของงานประจำแบบเก่า โดยการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานซึ่งเห็นได้ชัดในปี 2566 ตอกย้ำการออกจากบรรทัดฐานงานประจำแบบเก่า ซึ่งกระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกลับมาพิจารณาโครงสร้างประกันสังคมที่อิงจากรูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิม
การเลือกทำงานที่ไม่ใช่งานประจำในกลุ่มแรงงานอายุน้อยปรับตัวขึ้นอย่างมาก โดยข้อมูลปี 2566 ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นแตะ 730,000 ราย เมื่อเทียบกับ 590,000 รายในช่วง 10 ปีก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนผ่านสู่งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ หรืองานสัญญาจ้างนี้ตอกย้ำกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานและความทะเยอทะยานในอาชีพการงาน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญต่อความอยู่รอดของโครงการประกันสังคมในระยะยาว ซึ่งแต่เดิมต้องอาศัยเงินสมทบจากพนักงานประจำ โดยการลดลงของจำนวนพนักงานทดลองงาน อันเนื่องมาจากการขาดโอกาสที่จะบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ ซึ่งปรับตัวลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2566 เน้นย้ำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนถึงทัศนคติต่อการทำงานที่เปลี่ยนไปของแรงงานวัยหนุ่มสาวญี่ปุ่น แต่ยังส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย โดยนายจ้างอาจต้องปรับแนวทางปฏิบัติในการจ้างงานและข้อเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายถูกกดดันให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างของสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพื่อให้เหมาะสมกับเส้นทางการจ้างงานที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม ทั้งนี้ กระแสความนิยมงานที่ยืดหยุ่นมากกว่างานที่มั่นคงอาจส่งผลให้เกิดนวัตกรรมและประสิทธิภาพการทำงานที่มากขึ้น แต่ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินและสวัสดิการในระยะยาวสำหรับพนักงานกลุ่มนี้