สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเร่งลงทุนในตลาดต่างประเทศดังกล่าวสะท้อนถึงการขาดความเชื่อมั่นภายในจีน และปรากฎชัดในการจำหน่ายหน่วยกองทุนที่ออกภายใต้โครงการนักลงทุนสถาบันภายในประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (QDII) ซึ่งเป็นช่องทางการลงทุนในต่างประเทศที่อนุญาตให้ชาวจีนซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศภายใต้การควบคุมเงินทุนที่เข้มงวดของจีน
ข้อมูลจากสมาคมการจัดการสินทรัพย์แห่งประเทศจีนระบุว่า ยอดจำหน่ายหน่วยกองทุนจากโครงการ QDII ในเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ยอดขายหน่วยกองทุนรวมตราสารทุนในประเทศจีนปรับลดลง 35% ส่วนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสำหรับกองทุน QDII เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปี
กองทุนรวม ETF ซึ่งติดตามดัชนีนิกเกอิของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นและหุ้นจดทะเบียนบนดัชนี Nasdaq ของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ เผชิญความเสี่ยงเรื่องราคาสินทรัพย์สูงกว่ามูลค่าจริงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ซื้อเสนอซื้อสินทรัพย์สูงกว่ามูลค่าจริงเพื่อแย่งชิงสินทรัพย์เหล่านั้น
การแห่ลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศแสดงถึงแรงกดดันด้านบัญชีทุนและเงินตรา รวมถึงความท้าทายในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนจีนในตลาดจีนที่รัฐบาลจีนกำลังเผชิญ
หุ้นจีนร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีของจีนแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
"ลูกค้าฐานะมั่งคั่งของเราต้องการจัดสรรสินทรัพย์ให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้ หลังเติบโตแข็งแกร่งและโกยผลตอบแทนในระดับสูงมานาน 20 ปี ขณะนี้เศรษฐกิจจีนเสี่ยงเผชิญภาวะชะลอตัวในอนาคตอันใกล้" เล่อ หรง หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งบริษัท เอฟอาร์ ฮาร์เวสต์ แอสเสต แมเนจเมนต์ (FR Harvest Asset Management) ในนครเซี่ยงไฮ้ ระบุ โดยบริษัทแห่งนี้ช่วยลูกค้าลงทุนผ่าน QDII
ขณะนี้ บรรดาผู้จัดการสินทรัพย์กำลังประสบปัญหาในการช่วยนักลงทุนซื้อหน่วยกองทุนในโครงการ QDII เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อจนชนเพดานที่สำนักงานปริวรรตเงินตราต่างประเทศของจีน (SAFE) กำหนดเอาไว้
ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า SAFE ไม่ได้อนุมัติโควตาใหม่ตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลให้โควตาสะสมที่ได้รับการอนุมัติจนถึงขณะนี้อยู่ที่ 1.655 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ