แบรนด์ดังจากโลกตะวันตก เช่น ยูนิลีเวอร์ แมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ และดานอน กำลังถูกคว่ำบาตรโดยผู้บริโภคในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อันเป็นผลพวงมาจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ยกตัวอย่างเช่น พนักงานออฟฟิศวัย 28 ปี จากเมืองทังเกอรัง ชานกรุงจาการ์ตา เปิดเผยกับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย ว่า พยายามหลีกเลี่ยงการใช้หรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผย เพราะไม่อยากเสียเงินให้แบรนด์เหล่านี้ และรู้สึกเป็นห่วงชาวปาเลสไตน์
ยูนิลีเวอร์ บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก และแมคโดนัลด์ เครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยักษ์ใหญ่ ต่างออกมายอมรับว่าธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะที่บรรดาบริษัทข้ามชาติต่างพยายามแสดงจุดยืนว่าไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามอิสราเอล-ฮามาส
นายเฟอร์นันโด เฟอร์นันเดซ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของยูนิลีเวอร์ กล่าวในการประชุมทางโทรศัพท์เพื่อรายงานผลประกอบการเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ว่า ในอินโดนีเซีย พบว่ายอดขายลดลงในอัตราเลขสองหลักในไตรมาส 4/2566 ขณะที่ยอดขายของบริษัทข้ามชาติหลายแห่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ยูนิลีเวอร์ อินโดนีเซีย แสดงความคิดเห็นเมื่อเดือนพ.ย.ว่า "เรารู้สึกเศร้าใจและกังวลใจกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง" พร้อมกับเน้นย้ำว่าบริษัทให้บริการลูกค้าในอินโดนีเซียมาเป็นเวลานานถึง 90 ปีแล้ว และผลิตภัณฑ์ของบริษัทก็ผลิตและจัดจำหน่ายโดยชาวอินโดนีเซีย
ด้านแมคโดนัลด์ระบุเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ว่า ธุรกิจในต่างประเทศมียอดขายซบเซาในไตรมาส 4/2566 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยยอดขายในตลาดต่างประเทศที่ซื้อแฟรนไชส์จากแมคโดนัลด์เพิ่มขึ้นเพียง 0.7% ในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี จากที่ขยายตัว 16.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของสงครามในตะวันออกกลาง
นายคริส เคมป์ซินสกี ซีอีโอของแมคโดนัลด์ กล่าวในการประชุมทางโทรศัพท์เพื่อรายงานผลประกอบการว่า "ผลกระทบเห็นเด่นชัดที่สุดในตะวันออกกลาง และในประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตราบใดที่ความขัดแย้งยังดำเนินอยู่ สงครามการคว่ำบาตรสินค้าก็ยังดำเนินต่อไป และเราก็ไม่คาดหวังว่าจะได้เห็นสถานการณ์ดีขึ้นมากนักในตลาดเหล่านี้"