ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) นำเสนอมาตรการที่สร้างความประหลาดใจ โดยให้รับพนักงานต่างชาติมาทำงานดูแลเด็กและผู้สูงอายุ และอนุญาตให้จ่ายค่าจ้างพนักงานต่างชาติในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ เพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากสังคมผู้สูงอายุ
หากมีการปฏิบัติตามข้อเสนอดังกล่าวจริง จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากมาตรฐานการจ้างงานแรงงานต่างด้าวของเกาหลีใต้ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้จะยอมรับแรงงานต่างชาติในจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแล้วก็ตาม แต่พวกเขาทั้งหมดก็มีสิทธิ์ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากับคนในท้องถิ่น
ทั้งนี้ การที่แรงงานต่างด้าวได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วในหลายพื้นที่ของเอเชีย เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง
BOK ยืนยันหนักแน่นว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยให้แต่ละครอบครัวสามารถเข้าถึงการดูแลเด็กและคนชราที่จำเป็นในราคาที่จับต้องได้ โดยข้อมูลจากทางธนาคารเผยให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานดูแลเด็กเต็มเวลาในปัจจุบันอยู่ที่ 2.64 ล้านวอนต่อเดือน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของค่ามัธยฐานของรายได้ของผู้ปกครองในวัย 30 ปี ขณะที่พยาบาลเต็มเวลาโดยทั่วไปจะมีรายได้อยู่ที่ 3.7 ล้านวอน
BOK คาดการณ์ว่า การขาดแคลนการดูแลในราคาที่จับต้องได้จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ต้องลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเทียบเท่ากับ 2.1-3.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2585
หนังสือพิมพ์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า ในการประกาศข้อเสนอดังกล่าว นายรี ชาง-ยอง ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ กล่าวว่า ไม่มี "เป้าหมายที่สามารถบรรลุได้โดยง่าย" ให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้พึ่งพาเพื่อการเติบโตอีกต่อไปแล้ว "เราจำเป็นต้องทำการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่แสนยากลำบากนี้"
ทั้งนี้ ข้อเสนอนี้ดังกล่าวมีขึ้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากที่อัตราการเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานอัตราการเกิดที่ 0.72 ต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปีที่แล้ว ซึ่งลดลงจากระดับ 0.78 ในปี 2565 ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตทางประชากรศาสตร์