จีนรายงานเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนก.พ. หลังจากเผชิญภาวะเงินฝืดติดต่อกัน 4 เดือน โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนม.ค.
อย่างไรก็ตาม นายเรนระบุว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นในเดือนก.พ.เนื่องจากตรงกับเทศกาลตรุษจีน พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด
"เรายังเห็นว่าผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะกลุ่มคนร่ำรวย ค่อนข้างมีความวิตกกังวล โดยผู้บริโภคจีนยังคงซื้อสินค้าน้อยลงและหลีกเลี่ยงซื้อสินค้าใหญ่" นายเรนให้สัมภาษณ์ในรายการ "Squawk Box Europe" ของสถานีโทรทัศน์ช่องซีเอ็นบีซีเมื่อวันจันทร์ (11 มี.ค.)
"พวกเขาไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่หรือไม่ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น"
นายเรนชี้ว่าในระยะสั้น แบรนด์หรูระดับโลกจะยังคงเผชิญความยากลำบากจากการขาดแคลนอุปสงค์จีน และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งในชุมชน (Neighborhood Electric Vehicle - NEV) ของจีนอาจเผชิญความยากลำบากเช่นกัน
ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจจีนทำให้ราคาหุ้นจีนปรับตัวลงเป็นวงกว้างในปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนถูกฉุดรั้งจากภาวะตกต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์และการส่งออก ขณะที่รัฐบาลจีนวางเป้าหมายว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 5% ในปี 2567 หลังขยายตัว 5.2% ในปี 2566
"เศรษฐกิจจีนอ่อนแอ แต่ก็ไม่ได้อ่อนแอมากเกินไป หากคุณมองในระดับพหุชาติ (multinational) หากคุณพิจารณาเรื่องการเติบโตในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จีนคือจีน จีนไม่ใช่อินเดีย อินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 6 ของ GDP จีน และจีนไม่ใช่เวียดนาม ประเทศเหล่านี้เป็นตลาดขนาดเล็ก ดังนั้นผมคิดว่านักลงทุนควรมองจีนในระยะยาวอีกครั้ง ตลาดจีนสามารถลงทุนได้" นายเรนระบุ
"แต่ยังเร็วเกินไปที่จะเรียกว่าเป็นตลาดขาขึ้น คุณยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เศรษฐกิจจีนยังอ่อนแอ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ตลาดงานยังคงอ่อนแอ แต่ราคาหุ้นจีนต่ำเกินไป"
แม้ฟื้นตัวขึ้นพอสมควรในเดือนก.พ. แต่ดัชนีฮั่งเส็งของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงยังคงปรับตัวลงกว่า 14% ในช่วงปีที่ผ่านมา และนายเรนระบุว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาได้เริ่มลงทุนในหุ้น A-share ของฮ่องกงเมื่อประมาณหนึ่งเดือนก่อน เนื่องจากมองว่าราคาหุ้นดังกล่าวต่ำเกินไปมาก