หลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลกระทบเชิงลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) โดยไม่เพียงส่งผลกระทบเชิงลบต่อความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อรูปร่างหน้าตาและสถานะทางสังคมของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสุขภาวะทางการเงินและสถานภาพทางเศรษฐกิจด้วย
รายงานฉบับล่าสุดจากเครดิต การ์มา (Credit Karma) ระบุว่า ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 หรือ 29% ตกอยู่ในภาวะคิดหมกมุ่นเรื่องเงิน (Money Dysmorphia) ซึ่งอธิบายถึงความคิดที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน โดยปัจจุบันคนกลุ่มนี้มักเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของตนเองกับบุคคลอื่นและรู้สึกว่าตัวเองยังมีเงินไม่เพียงพอ
"ภาวะคิดหมกมุ่นเรื่องเงินก็คือการอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น" นางคอร์ตนีย์ อะเลฟ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนการเงินเพื่อผู้บริโภคของเครดิต การ์มาระบุ
เครดิต การ์มาระบุว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ภาวะคิดหมกมุ่นเรื่องเงินนั้นพบเห็นได้มากเป็นพิเศษในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยประมาณ 43% ของกลุ่มคน Gen Z และ 41% ของกลุ่มคน Gen Y หรือ Millennials กำลังต่อสู้อยู่กับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าในด้านการเงิน
"เรื่องนี้เป็นปัญหามานานมากแล้ว แต่โซเชียลมีเดียได้กระตุ้นให้ปัญหาดังกล่าวก้าวไปสู่อีกระดับ" นางแคโรลีน แมคคลานาฮาน นักวางแผนทางการเงินผู้มีใบรับรองและผู้ก่อตั้งบริษัทไลฟ์ แพลนนิ่ง พาร์ตเนอร์ส (Life Planning Partners) ในเมืองแจ็กสันวิลล์ของรัฐฟลอริดาระบุ
เครดิต การ์มาพบว่า คนที่มีอาการคิดหมกมุ่นเรื่องเงินจำนวนมากมีเงินออมสูงเหนือค่าเฉลี่ย แต่คนเหล่านี้ก็ยังใฝ่ฝันที่จะเป็นคนรวย
นางอะเลฟกล่าวว่า มีการบิดเบือนระหว่างความรู้สึกกับความเป็นจริง โดยมีชาวอเมริกันเพียง 14% ที่มองว่าตัวเองมีฐานะมั่งคั่ง
รายงานอีกฉบับจากเอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์ (Edelman Financial Engines) ระบุว่า คนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีเงินมากเพียงใดก็ตาม
ผลสำรวจสถานะการเงินของผู้บริโภคโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ความมั่งคั่งสุทธิของภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยของสหรัฐพุ่งทะยานขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 37% ระหว่างปี 2562-65
อย่างไรก็ตาม เอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์ระบุว่า มีชาวอเมริกันเพียง 14% ที่มองว่าตัวเองร่ำรวย และมาตรฐานความร่ำรวยมีแต่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่ รายงานอีกฉบับจากเลนดิงคลับ (LendingClub) ระบุว่า ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้กว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่คนเหล่านี้ก็ยังพูดว่าพวกเขาใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน
ปัญหาเงินเฟ้อสูงและความไร้เสถียรภาพที่ยืดเยื้อยาวนานได้บั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ขณะที่อินสตาแกรมก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบเช่นกัน
"สิ่งที่เราพบคือความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกไม่ดีต่อสถานะการเงินของคุณกับระยะเวลาที่คุณใช้โซเชียลมีเดีย" นางอิซาเบล บาร์โรว์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินของเอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์ระบุ
การศึกษาของเอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์บ่งชี้ว่า ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 4 รู้สึกพึงพอใจน้อยลงต่อจำนวนเงินที่พวกเขามีก็เพราะโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังทำให้บางคนใช้จ่ายเงินเกินตัวไปกับการซื้อสิ่งของแพง ๆ เช่น การพักร้อน, การรีโนเวตบ้าน หรือสินค้าหรูหรา เพราะเผชิญแรงกดดันจากความอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น