สมาพันธ์สหภาพการค้าของญี่ปุ่นหรือเรนโก (Rengo) เปิดเผยในวันนี้ (15 มี.ค.) ว่า พนักงานในบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ในการรายงานความคืบหน้าครั้งแรกของการเจรจาด้านค่าจ้างประจำปีหรือ "ชุนโต (Shunto)" ในปีนี้ เรนโกระบุว่า สมาชิก 7 ล้านคนของสหภาพจะรับการปรับขึ้นเงินเดือนราว 5.28% ในปีงบการเงิน 2567
โตโยต้า (Toyota) บริษัทผลิตยานยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ตกลงที่จะตอบรับข้อเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปีเมื่อวันพุธ (13 มี.ค.)
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การเก็งกำไรในตลาดดำเนินไปอย่างคึกคักในสัปดาห์นี้ หลังบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งประกาศปรับขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่ โดยบริษัทบางแห่งมีการปรับขึ้นที่สูงกว่าข้อเรียกร้องของสหภาพ
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคาดการณ์อีกว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ในการประชุมนโยบายในสัปดาห์หน้า และยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
แม้ว่า "อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน" ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน จะสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2% มานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ BOJ แทบไม่มีทีท่าจะปรับเปลี่ยนจุดยืนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในปัจจุบัน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2559
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวย้ำหลายครั้งว่าผลการเจรจาค่าจ้างในปีนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจของ BOJ ว่าจะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในช่วงเวลาใด
ทั้งนี้ BOJ มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และทำให้มีช่องทางในการคุมเข้มทางการเงินได้มากขึ้น