สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ (20 มี.ค.) โดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพิจารณาขึ้นบัญชีดำบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จีนหลายแห่งที่เชื่อมโยงกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด (Huawei Technologies Co.) หลังจากที่หัวเว่ยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้ว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการยกระดับความเข้มข้นในการจำกัดและลดทอนความพยายามด้าน AI และเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ด้วยการเพิ่มแรงกดดันต่อหัวเว่ยที่แม้จะเผชิญมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ แต่กลับสามารถผลิตชิปสมาร์ตโฟนได้อย่างเหนือความคาดหมายของสหรัฐ
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า บริษัทจีนที่อาจได้รับผลกระทบคือบริษัทที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) ระบุไว้ในรายงานก่อนหน้านี้ว่าเป็นโรงงานผลิตชิปที่หัวเว่ยเข้าซื้อหรือกำลังสร้างขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
โดยบริษัทผู้ผลิตชิปที่อาจถูกขึ้นบัญชีดำ ได้แก่ ชิงเต่า ซือเอิน (Qingdao Si'En), สเวย์ชัวร์ (SwaySure) และเซินเจิ้น เผินซุน เทคโนโลยี (Shenzhen Pensun Technology Co.) นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังชั่งใจว่าจะคว่ำบาตรบริษัท ฉางซิน เมมโมรี เทคโนโลยีส์ จำกัด (ChangXin Memory Technologies Inc.) ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำชั้นนำของจีนอีกด้วย
หนึ่งในแหล่งข่าวระบุว่า นอกเหนือจากบริษัทที่ผลิตชิปโดยตรงแล้ว สหรัฐยังอาจคว่ำบาตรบริษัท เซินเจิ้น เผิงจิ้น ไฮเทค จำกัด (Shenzhen Pengjin High-Tech Co.) รวมถึงบริษัทซีแคเรียร์ (SiCarrier) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยกังวลว่าทั้งสองบริษัทอาจกำลังช่วยให้หัวเว่ยได้รับอุปกรณ์ที่ถูกจำกัดไม่ให้เข้าถึง
รัฐบาลสหรัฐกำลังกดดันชาติพันธมิตรซึ่งรวมถึงเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เพิ่มข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของจีน โดยหัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นหัวใจสำคัญของการคว่ำบาตรนี้ เช่นเดียวกับที่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลจีนในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตก
แหล่งข่าวระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งดูแลบัญชีดำ (Entity list) มีหลักฐานเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงบริษัทเหล่านี้เข้ากับหัวเว่ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีอำนาจในการคว่ำบาตรธุรกิจที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นภัยความมั่นคงของชาติในอนาคต และเจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าบริษัทนั้น ๆ เคยทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายหรือผิดกฎหมายในอดีตหรือไม่
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงจุดยืน "คัดค้านอย่างเต็มที่" ต่อการกระทำของสหรัฐที่ขัดขวางระเบียบของตลาดและทำอันตรายต่อธุรกิจจีน อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐได้หากผู้ขายไม่ได้รับใบอนุญาตส่งออกพิเศษจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจสมาร์ตโฟนของหัวเว่ย อย่างไรก็ตาม ในเดือนส.ค. 2566 หัวเว่ยได้เปิดตัวสมาร์ตโฟน Mate 60 ที่ขับเคลื่อนด้วยชิป 7 นาโนเมตรที่ผลิตในจีน โดยเริ่มวางจำหน่ายในช่วงที่นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เดินทางเยือนประเทศจีนพอดี
ชิปดังกล่าวผลิตโดยบริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) แต่ยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตชิปอย่างเอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง (ASML Holding NV) ของเนเธอร์แลนด์ รวมถึงซัพพลายเออร์จากสหรัฐอย่างแอพพลายด์ แมททีเรียล (Applied Materials Inc.) และแลม รีเสิร์ช (Lam Research Corp.) โดยการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งซื้อมาก่อนที่ข้อบังคับควบคุมการส่งออกของสหรัฐและเนเธอร์แลนด์จะมีผลบังคับใช้ แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงไม่สามารถทดแทนชิ้นส่วนจากต่างประเทศได้ทั้งหมด แม้ว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศแบบครบวงจรก็ตาม