กลุ่มนักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ราคาทองคำยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีกหลังจากแตะระดับสูงสุดตลอดกาลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าซื้อทองคำในปริมาณมากเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า การเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางหลายแห่งได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าก็ตาม
ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมีแนวโน้มจะลดความต้องการทองคำเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ เนื่องจากทองคำนั้นไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะทำให้ราคาทองคำที่ซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ซื้อที่ถือครองเงินตราสกุลอื่น ๆ ดังนั้นจึงบั่นทอนความต้องการและกำลังซื้อในกลุ่มผู้ถือครองเงินตราสกุลอื่น ๆ
"ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ซึ่งเข้าซื้อทองคำในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ในปี 2567" นายฝาน เส้าข่าย หัวหน้าระดับโลกฝ่ายธนาคารกลางของสภาทองคำโลก (WGC) ระบุ
รายงานระบุว่า อีกปัจจัยที่หนุนอุปสงค์ทองคำจริง (Physical Gold) คือความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากทองคำได้รับการพิจารณาว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเงิน
"ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัสเซียและจีนเป็นสองผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม มีธนาคารกลางหลายแห่งมากขึ้นที่เข้าซื้อทองคำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา" นายอาคาช โดชิ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ประจำอเมริกาเหนือของซิตี้กรุ๊ปให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี
จีนเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์ทองคำจากผู้บริโภคและการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางจีน (PBOC) นอกจากนี้ กระแสการซื้อทองคำของจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง
WGC ระบุว่า ในกลุ่มธนาคารกลางทั่วโลก ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2566 โดยซื้อทองคำสุทธิมากถึง 224.88 ตัน ขณะเดียวกัน นักลงทุนจีนเข้าซื้อทองคำมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจจีนอ่อนแอและเกิดวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน โดยการลงทุนทองคำส่วนบุคคลของจีนยังคงแข็งแกร่ง
ขณะที่ธนาคารกลางโปแลนด์รั้งอันดับสองในฐานะผู้ซื้อทองคำสุทธิมากที่สุดในโลกในปี 2566 โดยซื้อทองคำมากถึง 130.03 ตัน
นายแรนดี สมอลวูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทวีตัน พรีเชียส เมทัลส์ (Wheaton Precious Metals) ระบุว่า ปัญหาจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ได้กดดันให้โปแลนด์เข้าซื้อทองคำเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ
ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า นายอดัม กัลพินสกี ผู้ว่าการธนาคารกลางโปแลนด์ได้ประกาศในปี 2564 ว่าจะซื้อทองคำ 100 ตันเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินของโปแลนด์
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซื้อทองคำสุทธิสูงเป็นอันดับ 3 ในปี 2566 ที่ 76.51 ตัน โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ไม่ได้เปิดเผยเหตุผลสำหรับการเข้าลงทุนในทองคำดังกล่าว แต่นายฝานให้ข้อสรุปว่า ธนาคารกลางทั่วโลกวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ส่วนธนาคารกลางที่ซื้อทองคำสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 4-10 ในปี 2566 ได้แก่ ลิเบีย, สาธารณรัฐเช็ก , อินเดีย, อิรัก, ฟิลิปปินส์ และคีร์กีซสถาน ตามลำดับ
การซื้อทองคำแบบปลีกมีส่วนช่วยให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งการซื้อทองรูปพรรณ, ทองคำแท่ง และทองคำเหรียญ โดยจีนมียอดซื้อทองคำแบบปลีกสูงที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา
"ในระดับผู้บริโภครายย่อย จีนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทองคำมีอุปสงค์แข็งแกร่ง เนื่องจากประชาชนแห่เข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์อื่น ๆ" นายฝานกล่าว
ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า จีนเบียดอินเดียก้าวขึ้นสู่สถานะผู้ซื้อทองรูปพรรณรายใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2566 โดยผู้บริโภคจีนซื้อทองรูปพรรณ 603 ตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565
WGC ระบุว่า ส่วนในอินเดีย แม้ว่าอุปสงค์ทองรูปพรรณจะยังคงเด่นชัด แต่ราคาทองคำที่แพงขึ้นอาจบั่นทอนความต้องการซื้อบางส่วน โดยอุปสงค์ทองคำรูปพรรณของอินเดียลดลง 6% สู่ระดับ 562.3 ตันในปี 2566 จากปีก่อนหน้า
นอกจากจีนและอินเดียแล้ว WGC ระบุว่า อุปสงค์ทองคำในปีที่ผ่านมาของตุรกีพุ่งสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัวจากเมื่อปี 2565