แวนการ์ด (Vanguard) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สวนทางกับรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดยังคงคาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปี 2567
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 มี.ค.) คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 5 ครั้งตามคาด พร้อมกับเปิดเผยรายงาน Dot Plot ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจำนวน 3 ครั้งในปี 2567 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากที่ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อเดือนธ.ค. 2566
การส่งสัญญาณดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้น โดยดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ปิดตลาดทำนิวไฮในวันพุธ (20 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี European Stoxx 600 ตลาดหุ้นยุโรปพุ่งขึ้นทำนิวไฮในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (21 มี.ค.) ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในการประชุมเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ดี บริษัทบริหารสินทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่างแวนการ์ดไม่ได้เชื่อเช่นนั้น โดยนายชาน ไรทาธา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของแวนการ์ดให้สัมภาษณ์ในรายการ "Squawk Box Europe" เมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) ว่า จากสมมติฐานเริ่มต้นนั้น ผมไม่คิดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางและตลาดทั่วโลก
"อย่างที่คุณทราบว่า ในช่วงต้นปีนี้มีกระแสคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจำนวน 7 ครั้ง แต่ขณะนี้การคาดการณ์ดังกล่าวได้ถูกปรับลดลงเหลือ 3 ครั้ง"
"ดังนั้น มันจึงขึ้นอยู่กับเหตุผลว่า เพราะอะไร? ... ถ้าเป็นเพราะเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตที่ได้รับแรงหนุนจากฝั่งอุปทาน ตลาดหุ้นก็อาจจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับแวนการ์ดแล้ว สิ่งที่เราเชื่อก็คือว่า ตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ในภาวะที่มีมูลค่าสูงค่อนข้างมากเกินไปแล้วในขณะนี้" นายไรทาธากล่าว
นอกจากนี้ นายไรทาธายังแสดงความเห็นว่า "ผมคิดว่าธนาคารกลางทุกประเทศต่างกลัวที่จะเคลื่อนไหวก่อนเฟด ยกเว้นธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ แต่ปัญหาด้านเงินเฟ้อในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแตกต่างอยู่เล็กน้อย"
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเมื่อวานนี้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.5% ส่งผลให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศรายใหญ่แห่งแรกที่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการควบคุมเงินเฟ้อ