เหตุการณ์สะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ (Francis Scott Key Bridge) พังถล่มที่เมืองบัลติมอร์ในรัฐแมรีแลนด์ของสหรัฐ คาดว่าจะส่งผลกระทบยืดเยื้อเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งถ่านหินและรถยนต์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ถ่านหินปริมาณมากถึง 2.5 ล้านตัน รถยนต์หลายร้อยคันที่ผลิตโดยฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) และเจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ตลอดจนไม้แปรรูปและยิปซัม เสี่ยงเผชิญกับการหยุดชะงักหลังจากเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ดาลี (Dali) พุ่งเข้าชนและทำให้สะพานพังถล่มลงมาช่วงเช้าวันอังคาร (26 มี.ค.) ตามเวลาสหรัฐ
สะพานแห่งนี้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าคีย์ บริดจ์ (Key Bridge) มีอายุ 47 ปี และมีระยะทาง 1.6 ไมล์ ทอดยาวไปตามแม่น้ำโพโทแมก โดยเชื่อมต่อเมืองจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตันดีซีกับอาร์ลิงตัน เคาน์ตีของรัฐเวอร์จิเนีย
เจ้าหน้าที่ระบุในช่วงเย็นวันอังคารว่า ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิต 6 ราย หลังจากดำเนินการค้นหาในแม่น้ำปาแทปสโก โดยยอดผู้เสียชีวิตอาจเลวร้ายยิ่งกว่านี้ หากไม่มีสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเรือขนส่งลำดังกล่าวเนื่องจากพลังงานหมด
ผลพวงของการพังทลายของสะพานได้ดึงดูดความสนใจมายังความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกอีกครั้ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปานามา และการโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่เรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงของกลุ่มติดอาวุธฮูตีในเยเมน ขณะที่ท่าเรือต่าง ๆ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์และเวอร์จิเนียอาจมีการสัญจรหนาแน่นมากขึ้น เพราะต้องรับเรือขนส่งต่าง ๆ ที่ถูกบีบมาจากเมืองบัลติมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ
นายจอห์น ลอว์เลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฟอร์ด กล่าวกับบลูมเบิร์กทีวีว่า "ท่าเรือแห่งนี้มีขนาดใหญ่และมีปริมาณการสัญจรคับคั่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบแน่นอน ... เราจะดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยเราจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังท่าเรืออื่น ๆ ตามแนวชายฝั่งตะวันออกหรือที่อื่น ๆ ในประเทศ"
ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า การขนส่งในบัลติมอร์มีสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของการนำเข้าทั้งหมดในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวในรอบปีที่สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ม.ค. แต่เมืองบัลติมอร์มีบทบาทสำคัญยิ่งสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กของผู้ผลิตรถยนต์จากฝั่งยุโรป เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ , โฟล์คสวาเกน และบีเอ็มดับบลิว