เสียวหมี่ (Xiaomi) ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนสัญชาติจีนประกาศในวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ได้รับยอดสั่งจองรถสปอร์ต EV รุ่นแรกของบริษัทฯ ที่มีชื่อว่า SU7 มากกว่า 100,000 คัน และได้เริ่มส่งมอบรถยนต์แล้ว
"รถยนต์ของเสียวหมี่เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว การปฏิวัติที่แท้จริงในวงการรถยนต์อัจฉริยะได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และจีนจะให้กำเนิดบริษัทที่ยิ่งใหญ่เหมือนเทสลาอย่างแน่นอน" นายเหลย จวิน ซีอีโอและผู้ก่อตั้งกล่าวในพิธีส่งมอบรถยนต์ลอตแรกที่กรุงปักกิ่ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การส่งมอบลอตแรกจะเป็นรถยนต์รุ่นลิมิเต็ดเอดิชันจำนวน 5,000 คันที่เสียวหมี่ผลิตแล้ว เรียกว่า "Founder's Edition" โดยมาพร้อมอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมสำหรับผู้ซื้อกลุ่มแรก
หลังจากเปิดตัว SU7 (ย่อมาจาก Speed Ultra 7) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เสียวหมี่ได้แจ้งผู้ซื้อรถเก๋งไฟฟ้ารุ่นนี้ว่า อาจต้องรอนานถึง 4-7 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีดีมานด์ที่แข็งแกร่ง
หุ้นเสียวหมี่พุ่งขึ้นถึง 16% เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจาก SU7 ได้รับความสนใจอย่างมากแม้ว่าโบรกเกอร์คาดการณ์ว่า บริษัทฯ อาจจะขาดทุนเกือบ 10,000 ดอลลาร์ต่อคันในปีนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดี หุ้นเสียวหมี่ปรับตัวลงมากกว่า 3% ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับดัชนี Hang Seng ที่ลดลง 1.1%
ที่ระดับราคาสูงสุดเมื่อวานนี้ เสียวหมี่มีมูลค่าตลาดถึง 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ราคาหุ้น 17.34 ดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งสูงกว่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมของสหรัฐอย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (5.2 หมื่นล้านดอลลาร์) และฟอร์ด (5.3 หมื่นล้านดอลลาร์)
SU7 ของเสียวหมี่เข้าสู่ตลาด EV จีนที่มีการแข่งขันดุเดือดด้วยราคาที่น่าดึงดูดใจ โดยรุ่นพื้นฐานมีราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ ถูกกว่า เทสลา โมเดล 3 (Tesla Model 3) ในประเทศจีน
แม้ว่าตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างจีนนั้นถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ เนื่องจากสงครามราคารถ EV ที่ดุเดือดและความต้องการที่ชะลอตัว แต่เหล่านักวิเคราะห์ก็มองว่า เสียวหมี่มีเงินทุนมากกว่าบริษัทสตาร์ตอัปรถ EV ส่วนใหญ่ และความเชี่ยวชาญด้านสมาร์ตโฟนของบริษัทฯ จะมอบข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านแดชบอร์ดอัจฉริยะ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญ
อนึ่ง เสียวหมี่ทำรายได้ 3.75 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่มาจากการขายสมาร์ตโฟน
การเปิดตัว SU7 ถือเป็นความสมปรารถนาของนายเหลยที่ประกาศไว้เมื่อปี 2564 ว่าจะบุกตลาดรถ EV พร้อมให้คำมั่นว่าจะลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในธุรกิจยานยนต์เป็น "โครงการใหญ่ครั้งสุดท้าย" ในชีวิตของเขา