เอออน (Aon) ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำระดับโลกเปิดเผยในรายงานล่าสุดว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นมูลค่าสูงถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 โดยส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วมในประเทศจีนและภัยแล้งในอินเดีย
ทั้งนี้ จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมดดังกล่าวนั้น มีเพียง 9% หรือประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ที่ได้รับการคุ้มครองด้านการประกันภัย ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 21 ซึ่งอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
รายงานของ Aon ระบุว่า น้ำท่วมยังคงเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 4 หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 64% ของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมดในปี 2566 โดยมูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมต่อปีอยู่ที่ระดับสูงกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2553
จีนได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยคิดเป็นมูลค่า 3.22 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสียหายในภูมิภาคแห่งนี้ ขณะที่ฮ่องกง เกาหลีใต้ อินเดีย และปากีสถาน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมและฝนที่ตกลงมาในปริมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตลอดทั้งปี
ส่วนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น ได้คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 2,900 คน โดย Aon ระบุว่าความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับภัยน้ำท่วมในภูมิภาคแห่งนี้มีมูลค่าสูงกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ในทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2553
รายงานของ Aon ยังระบุถึงภาวะอุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้งในประเทศจีนและอินเดีย พร้อมกับระบุว่า ในขณะที่คลื่นความร้อนถือเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดนั้น แต่อุตสาหกรรมประกันไม่ได้ให้ความสนใจมากนักกับความเสี่ยงดังกล่าว
Aon ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเฮรัตในประเทศอัฟกานิสถานเมื่อเดือนต.ค. ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนเกือบ 1,500 คน และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลกานซูของจีนเมื่อเดือนธ.ค. ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนกว่า 200,000 หลัง
นายจอร์จ แอตทาร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรีอินชัวแรนซ์ โซลูชัน (Reinsurance Solutions) ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของ Aon ในเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า แม้โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน 10 อันดับความเสี่ยงสำหรับธุรกิจ แต่ก็มีผลกระทบโดยตรง 4 ด้าน คือทำให้ธุรกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน, ทำให้ทิศทางตลาดเปลี่ยนแปลงไป, ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ
เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั่วโลกพบว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกประมาณ 3.80 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 22% จากค่าเฉลี่ยของศตวรรษที่ 21 โดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและพายุที่สร้างความเสียหายรุนแรงในสหรัฐและยุโรป