ตลาดหุ้นเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนักในวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.) ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณว่าเฟดไม่ควรเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 เมื่อคืนนี้
-- นายนีล แคชแครี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิสได้แสดงความเห็นล่าสุดเมื่อวานนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หากเงินเฟ้อของสหรัฐไม่ชะลอตัวลงตามที่เฟดคาดหวังไว้ พร้อมกับกล่าวว่าในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น เขาเป็นหนึ่งในกรรมการเฟดที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แต่ขณะนี้เขามองว่าหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
ขณะที่นายโทมัส บาร์กิน ประธานเฟดสาขาริชมอนด์ กล่าวสนับสนุนให้เฟดใช้เวลามากขึ้นในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเขามองว่าการที่เศรษฐกิจมหภาคและตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากในขณะนี้ ทำให้เฟดจำเป็นต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง
-- นักลงทุนเริ่มจับตาสถานการณ์ราคาน้ำมันอีกครั้ง ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 86 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว อันเนื่องมาจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง
ฟรานซิสโก บลานช์ นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) คาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจจะทำให้เฟดเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พร้อมกับคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนถึงฤดูการขับขี่ยานยนต์ในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐ และคาดว่าตลาดทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบในปริมาณ 450,000 บาร์เรล/วัน
-- ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่ง ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนมี.ค.
-- ราคาทองคำในตลาดนิวยอร์กปิดอ่อนแรงลงเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (4 เม.ย.) โดยขยับลง 6.50 ดอลลาร์ หรือ 0.28% ปิดที่ 2308.50 ดอลลาร์/ออนซ์ อย่างไรก็ตาม โอซีบีซี (OCBC) ซึ่งเป็นธนาคารของสิงคโปร์คาดการณ์ว่า ราคาทองคำยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไปในระยะกลาง
ทั้งนี้ OCBC ระบุในรายงานล่าสุดว่า "หลักฐานในอดีตนับตั้งแต่ปี 2544 แสดงให้เห็นว่าราคาทองคำจะปรับตัวอย่างแข็งแกร่งเมื่อเฟดยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะพุ่งขึ้นต่อไปเมื่อเฟดเริ่มวงจรปรับลดอัตราดอกเบี้ย"
-- นักลงทุนจับตาทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด หลังจากราคาน้ำมัน WTI ทะยานขึ้นทะลุระดับ 86 ดอลลาร์ และราคาน้ำมันเบรนท์พุ่งขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 หลังจากมีรายงานว่าสถานทูตอิสราเอลทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรการเฝ้าระวังขั้นสูง ท่ามกลางความกังวลว่าอิหร่านอาจจะก่อเหตุโจมตีนักการทูต
อิหร่านซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้อิสราเอล หลังจากอิสราเอลโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านในซีเรียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 เม.ย.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งรวมถึงนายโมฮัมหมัด เรซา ซาเฮดี ผู้บัญชาการระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่าน
นักวิเคราะห์หลายรายแสดงความเห็นว่า หากอิหร่านทำสงครามโดยตรงกับอิสราเอล ก็จะทำให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางลุกลามออกไปเป็นวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาด
-- ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 68,000 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ ขณะที่เริ่มเข้าใกล้ปรากฏการณ์ Bitcoin Halving ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์
เว็บไซต์เกี่ยวกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีหลายแห่งต่างเริ่มนับถอยหลัง Bitcoin Halving โดยข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ส่วนใหญ่ระบุว่าเหลือเวลาอีกเพียง 16 วันก่อนเกิด Bitcoin Halving
ทั้งนี้ Bitcoin Halving คือ เหตุการณ์การแบ่งครึ่งบล็อกของบิตคอยน์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปี ด้วยการลดอัตราการสร้างบิตคอยน์ใหม่ลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่ลดรางวัลที่จะมอบให้กับนักขุดบิตคอยน์ เพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของบิตคอยน์ในตลาด
-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ โดยเกาหลีใต้เปิดเผยดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.พ. ขณะที่ญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนก.พ. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนก.พ. (ประมาณการเบื้องต้น)
ทางด้านออสเตรเลียเปิดเผยดุลการค้าเดือนก.พ. ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสิงคโปร์เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.พ.
นอกจากนี้ เยอรมนีเปิดเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ., อังกฤษเปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค.จากฮาลิแฟกซ์ ขณะที่ฝรั่งเศสเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. และอียูเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ส่วนสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.