ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดในวันนี้ (11 เม.ย.) โดยระบุว่า จีนจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุด แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงก็ตาม
นายอัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADB กล่าวว่า "จีนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อไป โดยจีนยังคงคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
"แม้เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง และเราคาดการณ์ว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีข้างหน้า แต่เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มจะหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ" นายพาร์คกล่าว
ADB คาดการณ์ว่า GDP ของจีนจะขยายตัว 4.8% ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนวางเอาไว้ที่ประมาณ 5% หลังจากที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.2% ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลจีนวางเอาไว้ที่ประมาณ 5%
แม้ว่าเศรษฐกิจโตชะลอตัวลง แต่ ADB ประมาณการว่า จีนจะคิดเป็นสัดส่วน 46% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียระหว่างปี 2567-2568
ปัจจุบัน จีนคิดเป็นสัดส่วน 18% และ 48% ของ GDP โลกและเอเชียตามลำดับ โดยอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ใช้โดย ADB, ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่โดดเด่นของอินเดียทำให้หลายฝ่ายยกย่องอินเดียในฐานะมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและการผลิต และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในช่วงที่เกิดกระแสลดการพึ่งพาจีน โดยเศรษฐกิจอินเดียขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส โดยขยายตัว 8.4% ในไตรมาสเดือนต.ค.-ธ.ค. ของปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์
"อินเดียมีความสำคัญมากขึ้นต่อการขยายตัวในภูมิภาค" นายพาร์คกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี โดย ADB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวสูงที่สุดในภูมิภาคที่ 7% ในปี 2567 และ 7.2% ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม นายพาร์คระบุว่า แม้เศรษฐกิจอินเดียมีความสดใสอย่างไร้ข้อกังขา แต่ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าจีน โดยข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ระบุว่า เศรษฐกิจจีนยังคงมีขนาดใหญ่กว่าอินเดียถึงประมาณสองเท่าครึ่ง
"เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์อ้างอิงดังกล่าว อินเดียยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานถึงจะกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้อย่างแท้จริง" นายพาร์คกล่าวเสริม