นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนอาจจะขยายตัว 4.6% ในไตรมาส 1/2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 1 ปี และต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ประมาณ 5.0% โดยข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นแรงผลักดันให้ทางการจีนเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนมีกำหนดเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1/2567 ในวันอังคารที่ 16 เม.ย.นี้ และจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค., ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค., การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนมี.ค. และอัตราว่างงานเดือนมี.ค.
เศรษฐกิจจีนเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัวให้แข็งแกร่งและยั่งยืนหลังผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยถูกกดดันจากการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์, ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น และการใช้จ่ายในภาคเอกชนที่อ่อนแอลง
ในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตสู่เป้าหมายที่วางไว้ในปี 2567 ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตรา 5.2% ในปี 2566 นั้น เกิดจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19
เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีนลงสู่ "เชิงลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" โดยระบุถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจจะเผชิญปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง
ส่วนในวันนี้ (11 เม.ย.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.4% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ปรับตัวลง 2.7% ในเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด และอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ทางการจีนเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ