S&P ชี้มาตรการกระตุ้นด้านการคลังของจีนเริ่มไม่ได้ผล เป็นเพียงกลยุทธ์ซื้อเวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2024 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หยุนปัง ซู นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P Global Ratings) เปิดเผยในรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ว่า มาตรการกระตุ้นด้านการคลังของจีนเริ่มมีประสิทธิผลน้อยลง และถูกใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายด้านอุตสาหกรรมและการบริโภค

ทั้งนี้ การวิเคราะห์นี้ใช้การขยายตัวด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อประเมินมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง

"ในมุมมองของเรา มาตรการกระตุ้นด้านการคลังเป็นกลยุทธ์เพื่อซื้อเวลา ซึ่งอาจมีประโยชน์บางส่วนในระยะยาว หากโครงการต่าง ๆ มุ่งฟื้นฟูการบริโภคหรือปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า" นายซูระบุ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายการเติบโตรายปีของ GDP ในปี 2567 ไว้ที่ประมาณ 5% ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายมองว่าเป็นเป้าหมายที่ยากจะบรรลุ เมื่อพิจารณาจากระดับของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการประกาศไว้

ในเดือนมี.ค. ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานวางแผนระดับสูงของจีนกล่าวว่า จีนจะเพิ่มความแข็งแกร่งของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเพิ่มการประสานงานระหว่างนโยบายการคลัง การเงิน การจ้างงาน อุตสาหกรรม และภูมิภาค

รายงานของ S&P ระบุว่า หนี้สินที่ระดับสูงนั้นจะจำกัดขีดความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นในการดำเนินมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง ไม่ว่าเมืองนั้นจะอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีรายได้สูงหรือต่ำก็ตาม

หนี้สาธารณะที่คิดเป็นสัดส่วนของ GDP นั้นอาจอยู่ในช่วงประมาณ 20% สำหรับเมืองที่มีรายได้สูงอย่างเซินเจิ้น ไปจนถึง 140% สำหรับเมืองที่มีรายได้ต่ำและมีขนาดเล็กกว่า เช่น เมืองปาจงในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ทั้งนี้ นายซูระบุเสริมว่า "เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดด้านการคลังและประสิทธิผลที่ลดลง เราคาดว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะมุ่งให้ความสำคัญในการปรับลดกฎระเบียบขั้นตอนทางราชการ และใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และมาตรฐานการครองชีพ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ