นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา หรือท็อป ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีของไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่นว่า การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบิทคับในปีหน้าจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจของบิทคับขยายตัวเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบิทคับตั้งเป้าจะสร้างธุรกิจระดับภูมิภาคเพื่อแข่งขันกับบริษัทใหญ่อื่น ๆ เช่น คอยน์เบส (Coinbase) ของสหรัฐ และไบแนนซ์ (Binance) ของจีน
ทั้งนี้ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป จะนำรายได้จากการทำ IPO ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล "Bitkub Online" ขยายธุรกิจในตลาดใหม่ ๆ ในประเทศอื่น ๆ ของอาเซียน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาโครงสร้างสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น กัมพูชา เวียดนาม และลาว
"อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นไม่ค่อยเหมาะสมเนื่องจากมีผู้ชนะชัดเจนแล้ว ดังนั้นเราจะเจาะประเทศใหม่ ๆ และเริ่มทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบท้องถิ่นตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้ตั้งแต่เริ่มแรก" นายจิรายุส กล่าว
บิทคับมีปริมาณซื้อขายคริปโทฯ รายวันที่ 44.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าอินโดแด็กซ์ (Indodax) และโทโกคริปโท (Tokocrypto) ของอินโดนีเซีย และคอยน์สดอตพีเอช (Coins.ph) ของฟิลิปปินส์ แต่ในตลาดแนวหน้าต่าง ๆ บิทคับวางแผนจะผลักดันธุรกิจในแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือไปจากด้านปริมาณการซื้อขายคริปโทฯ โดยส่งเสริมให้มีการใช้งานคริปโทฯ เช่น การส่งเงินกลับภูมิลำเนาในกลุ่มแรงงานอพยพและกลุ่มอาชีพอิสระสายดิจิทัล (digital nomad)
"เราต้องการมุ่งความสนใจไปที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพราะจะช่วยให้เราก้าวข้ามตะวันตกด้วยการใช้เทคโนโลยีล่าสุด" นายจิรายุสให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย และเพิ่มเติมว่า ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงทำธุรกรรมด้วยเงินสดนั้นไม่ได้มีโครงสร้างการเงินเดิมที่ลงทุนไปเยอะจนไปต่อได้ยาก ดังนั้นจึงมีต้นทุนโอกาสต่ำกว่ามากในการเปลี่ยนไปใช้คริปโทฯ
นายจิรายุสระบุว่า การทำ IPO ในไทยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับบิทคับ แม้ว่าจะมีการพิจารณาทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงหรือสหรัฐในอนาคตก็ตาม
"เราถือเงินฝากลูกค้าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเกิดอะไรขึ้นกับบิทคับอาจสร้างความเสี่ยงเชิงระบบต่อเศรษฐกิจไทย" นายจิรายุสกล่าว