ข้อมูลจากรายงานการทบทวนข้อตกลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SE Asia Deal Review) ที่รวบรวมโดยดีลสตรีตเอเชีย (DealStreetAsia) เว็บไซต์ข่าวการเงินจากสิงคโปร์ระบุว่า สตาร์ตอัปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีในเดือนม.ค.-มี.ค.ปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวที่ยืดเยื้อในด้านการระดมทุนในภูมิภาคดังกล่าวนับตั้งแต่สิ้นสุดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 โดยแทบไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว
สตาร์ตอัปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนผ่านการขายหุ้นได้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งลดลง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของระดับในไตรมาส 4/2566 โดยมีการทำข้อตกลงทั้งหมด 180 ข้อตกลงในไตรมาส 1/2567 ซึ่งลดลงจาก 193 ข้อตกลงในปีก่อนหน้า
"หลังจากเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ในปี 2566 ก็มีการคาดการณ์ในระดับสูงเกี่ยวกับการฟื้นตัวขึ้นของการลงทุนด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้" รายงานฉบับดังกล่าวระบุ "เครื่องบ่งชี้สำคัญหลายประการลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีจากผลพวงของการเกิดวิกฤตสภาพคล่องทั่วโลกแบบต่อเนื่อง ซึ่งบั่นทอนมูลค่าหุ้นและความต้องการเสี่ยงในการระดมทุนรอบใหญ่ ๆ"
การระดมทุนของสตาร์ตอัปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2533 และแตะจุดสูงสุดในปี 2564 โดยเวลานั้นธุรกิจดิจิทัลตั้งแต่ฟินเทคไปจนถึงโทรเวช (Telemedicine) สามารถดึงดูดเงินทุนได้มหาศาล
อย่างไรก็ตาม การระดมทุนประสบกับภาวะขาลงนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ซึ่งมีการทำข้อตกลงรวม 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยุคเฟื่องฟูของหุ้นเทคโนโลยีในช่วงโควิด-19 ระบาดเริ่มแผ่วลงและอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อการปรับฐานดังกล่าว เนื่องจากสตาร์ตอัปในภูมิภาคเอนเอียงไปสู่บริการผู้บริโภคที่สามารถแข่งขันได้มากกว่า
เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซอยู่ในกลุ่มที่ปรับตัวลงมากที่สุดในไตรมาส 1/2567 ซึ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงการเดิมพันในธุรกิจที่ใช้เงินทุนขับเคลื่อนเป็นหลัก โดยในภาคส่วนดังกล่าวมีการทำข้อตกลงขายหุ้นเพียง 10 ข้อตกลงและระดมทุนได้เพียง 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นอย่างน้อยเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส