ภาวะเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้สร้างความวิตกกังวลว่า ลาวและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกที่เปราะบางอื่น ๆ กำลังเสี่ยงจะเผชิญกับวิกฤตการณ์หนี้สิน
นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ระบุในการประชุมประจำปีของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ณ กรุงทบิลิซิ ประเทศจอร์เจีย ว่า "ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำบางแห่งยังคงมีความเปราะบางด้านหนี้สินอย่างรุนแรง"
เมื่อวันศุกร์ (3 พ.ค.) นายซูซูกิได้หารือเรื่องการบริหารหนี้อย่างยั่งยืน (Debt Sustainability) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากกลุ่มประเทศเกาะในแปซิฟิก และในวันเดียวกัน ADB ได้เห็นพ้องกับกลุ่มผู้บริจาคในการอัดฉีดเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุด
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศเกิดใหม่และประเทศรายได้ปานกลางในเอเชียจะเติบโตแตะระดับ 82.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 จุดเปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว โดยสูงกว่าสัดส่วน 36.2% ของกลุ่มประเทศในยุโรป และ 68.5% ในลาตินอเมริกา
ADB ระบุว่า อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP ratio) ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำในเอเชียมีแนวโน้มจะปรับขึ้น 1 จุดเปอร์เซ็นต์ สู่ระดับ 44.6% ส่วนเมื่อปีที่แล้ว 70% ของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกขาดดุลทางการคลัง
เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา IMF ได้ประเมินว่า 9 จาก 69 ประเทศรายได้ต่ำจะเผชิญกับปัญหาหนี้ต่างประเทศ ขณะที่อีก 25 ประเทศเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศ โดยลาวอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะเผชิญปัญหาหนี้ ส่วนมัลดีฟส์ ปาปัวนิวกินี คิริบาส และหมู่เกาะมาร์แชลล์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงที่จะเผชิญปัญหาหนี้ต่างประเทศ
ธนาคารโลกระบุว่า หนี้สาธารณะของลาวทะลุ 120% ของ GDP ในปี 2566 โดยครึ่งหนึ่งของหนี้ต่างประเทศมาจากจีน ขณะที่ผู้สังเกตการณ์บางรายระบุว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะที่แท้จริงจะสูงกว่านี้มากหากนับรวมหนี้สาธารณะที่ปกปิดเอาไว้ โดยมีรายงานว่าจีนได้ผ่อนปรนหนี้สินอย่างไม่เป็นทางการ
"ลาวไม่ได้เป็นเพียงประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีนอีกต่อไป แต่ปัจจุบันลาวกำลังถูกครอบงำจากจีนที่มีเป้าหมายเพื่อก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว" นักการทูตอาเซียนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียของญี่ปุ่น
เงินกีบลาวร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทของไทย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเข้มแข็งทางการคลังของลาว ซึ่งบั่นทอนการชำระหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น
อนึ่ง ลาวพึ่งพาเชื้อเพลิงและอาหารนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีความกังวลว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น และในเดือนก.ค. 2566 รัฐบาลลาวได้กำหนดให้ใช้เงินกีบเท่านั้นในการชำระหนี้ในประเทศ